มธ.ทุ่ม8พันล้าน ลุยเมดิคัลฮับ

มธ.ทุ่ม8พันล้าน ลุยเมดิคัลฮับ

เดินหน้าเมติคัลฮับ รองรับผู้ป่วยนอก 4-5 แสนรายต่อปี ผู้ป่วยใน 2 หมื่นคนต่อปี รองรับการขยายตัวของ อีอีซี เล็งขอ บีโอไอ ลดหย่อนภาษี 13 ปี ดึงต่างชาติตั้งศูนย์วิจัยการแพทย์ชั้นสูง ด้าน “สยามกลการ” หนุนที่ดิน 18 ไร่ สร้างโรงพยาบาล

นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากรัฐบาลประกาศให้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ต.โป่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 566 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษสำหรับกิจการการแพทย์ครบวงจร (EECmd) โดยมีแผนสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อรองรับขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวในอีอีซี

โดยพื้นที่ทั้งหมด 566 ไร่ จะแบ่งเป็น พื้นที่สำหรับด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร (เมดิคัล ฮับ) 266 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ 111 ไร่ สถาบันวิจัยการแพทย์ขั้นสูง 60 ไร่ และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา 95 ไร่ นอกจากนี้ยังมีศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 56 ไร่ พื้นที่บริการ 104 ไร่ พื้นที่สีเขียว 140 ไร่

เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน

ในส่วนของพื้นที่เมดิคัลฮับ ใช้เงินลงทุน 8 พันล้านบาท แบ่งเป็น 1.ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์พัทยาขนาด 300 เตียง จะใช้เงินลงทุน 2.6 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2567 ในเฟส 2 จะขยายอีก 300 เตียง

1_17

2.การพัฒนาอาคารรอบโรงพยาบาล 7 อาคาร ใช้เงินลงทุน 5.4 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นคลินิกผู้มีบุตรยากและทันตกรรมดิจิทัล ศูนย์กลางพัฒนาสุขภาพพลานามัยผู้สูงอายุ ศูนย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับพื้นที่อีอีซี และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์ฟอกไต และศูนย์วิจัยทางการแพทย์ชั้นสูง ศูนย์วิจัยยา เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งพื้นที่สตาร์ทอัพด้านการแพทย์ โดยในส่วนนี้จะเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ขณะนี้มีเอกชนจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น

“ในพื้นที่ EECmd ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการลดหย่อนอีก 50% เป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการขอสิทธิประโยชน์ บีโอไอ เพิ่มเป็นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 13 ปี เท่าๆ กับเขต EECi และ EECd เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก ทั้งการขยายศักยภาพบริการทางการแพทย์ให้กับบุคลากรใน อีอีซี การวิจัยพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ใหม่ๆ เช่น ระบบหุ่นยนต์ เอไอ ทางการแพทย์”

“อีอีซี”จำเป็นต้องมี รพ.เพิ่ม

ทั้งนี้ ปัจจุบันอีอีซี มีโรงพยาบาลของรัฐบาลอยู่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากโครงการ อีอีซี เดินหน้าเต็มที่จะมีแรงงานอีกกว่า 1 ล้านราย เข้ามาในพื้นที่นี้ ดังนั้นจึงต้องมีโรงพยาบาลรัฐบาลเพิ่ม โดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จะรับผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาได้ 4-5 แสนคนต่อปี และรับผู้ป่วยในได้มากกว่า 2 หมื่นคนต่อปี ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยที่ใช้บัตรทอง และประกันสังคม รวมทั้งยังมีส่วนโรงพยาบาลที่ให้บริการแบบโรงพยาบาลเอกชน จะทำให้ประชาชนในอีอีซี เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดสร้างศูนย์กลางพัฒนาสุขภาพพลานามัยผู้สูงอายุ พื้นที่ 5 ไร่ อาคารที่พักอาศัย 3 ชั้น 3 หลัง ห้องพักขนาด 50-60 ตรม. จำนวน 150 หน่วย ใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารอาคารส่งเคราะห์ รวมทั้งจะมีคลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ คลินิกสูงวัย การตรวจรักษาโรคทั่วไป คลินิกทันตกรรมสูงวัย คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประชาชนในอีอีซี

ตั้งศูนย์นวัตกรรมยานยนต์

นางเกศินี กล่าวว่า ภายในพื้นที่นี้ยังมีศูนย์นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต มีเนื้อที่ 26 ไร่ จะดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือจากสถาบันวิจัยนานาชาติ สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานวิจัยของภาคเอกชน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยานยนต์แห่งอนาคต ด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างเครือข่ายความร่วมมือนักวิจัยระดับโลก เพื่อดึงดูดบุคลากรและหน่วยงานเข้าสู่พื้นที่ เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกัน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่จะช่วยให้การพัฒนากำลังคนของประเทศก้าวรุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐ โดยมีรูปแบบบริการครบวงจร ตั้งแต่ความร่วมมือระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา การจัดการเรียนการสอน เพื่อยกระดับความสามารถบุคลากรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้บริการศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์ในการสอนที่ทันสมัย

สยามกลการหนุนที่ดิน18ไร่

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทสยามกลการ จำกัด ได้มอบพื้นที่ 18 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา นำไปพัฒนาก่อสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก

นายพรเทพ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ อีอีซี มีความสำคัญอย่างมาก สอดคล้องกับนโยบายของ บริษัท สยามกลการ จำกัด ที่มุ่งหวังที่จะเห็นประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลอย่างสะดวก รวดเร็วและมีคุณภาพ ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
“บริษัท สยามกลการ จำกัด มีความยินดีมอบพื้นที่ 18 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์แก่สังคมไทย ในโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ อีอีซี ทั้งเด็ก เยาวชน จนถึงผู้สูงวัย ได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว”