ทร.เร่งรันเวย์2อู่ตะเภา

ทร.เร่งรันเวย์2อู่ตะเภา

ครม.ไฟเขียวกรอบผูกพันงบประมาณ 2562 กองทัพเรือ จ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการรันเวย์เส้นที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา พร้อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน วงเงิน 347 ล้านบาท รวมทั้งปรับงบ 361 ล้านบาท ปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ ท่าเรือจุกเสม็ด

การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอยู่ในขั้นตอนการประมูล โดยกองทัพเรือกำหนดให้ยื่นซองประมูลไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ยื่นซองประมูล 3 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส 2.กลุ่ม Grand Consortium 3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี)

สำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การลงทุนของภาคเอกชนที่ชนะการประมูลจะเข้ามาลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รวมทั้งพัฒนาศูนย์การขนส่งภาคพื้น ศูนย์ธุรกิจการค้า เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยจะได้สิทธิการใช้พื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา
2.การลงทุนในส่วนภาครัฐ ประกอบด้วยการพัฒนารันเวย์ที่ 2 และแท็กซี่เวย์ รวมถึงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานบนพื้นที่ 500 ไร่ การพัฒนาศูนย์ฝึกบุคลากรการบินและอวกาศ รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า และหอบังคับการบิน ระบบควบคุมจราจรทางอากาศ

อนุมัติงบที่ปรึกษารันเวย์2

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบการอนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเริ่มใหม่ และเปลี่ยนแปลงการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 รายการภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามการเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ทร.เร่งรันเวย์2อู่ตะเภา

โดยการอนุมัติรายการผูกพันเริ่มใหม่เพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2662 จำนวน 2 รายการ วงเงินรวม 347 ล้านบาท ได้แก่ 1.การจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศบานอู่ตะเภา ระยะเวลาในการดำเนินงาน 4 ปีระหว่างปี 2562-2564 วงเงิน 91 ล้านบาท โดยวงเงินที่ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปี 2562 วงเงิน 16.54 ล้านบาท คิดเป็น 18.17% ของวงเงินงบประมาณรายการ

2.การจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 วงเงิน 256 ล้านบาทระยะเวลาในการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาฯ 6 ปี และวงเงิน ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรกคือปี 2562 วงเงิน 18.61 ล้านบาท คิดเป็น 7.26% ของวงเงินรวมของรายการ

ปรับปรุงร่องน้ำท่าเรือจุกเสม็ด

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงโครงการและงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2552 ที่กำหนดว่าการผูกพันงบประมาณล่วงหน้า ควรกำหนดอย่างน้อย 5 ปี และรายจ่ายลงทุนที่จะขอผูกพันข้ามปีงบประมาณในปีแรก จำนวนไม่น้อยกว่า 20% ของวงเงินรวมของรายการ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนงบประมาณจากโครงการปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือ ท่าเรือจุกเสม็ด ระยะที่ 1 วงเงิน 361.15 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินการ 2 ปี
ทั้งนี้ กำหนดให้เปลี่ยนจากข้อเสนอเดิมที่เสนอให้ดำเนินงานในโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระยะเวลา 2 ปี วงเงิน 361.15 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการได้เนื่องจากงบประมาณเท่ากัน

กระตุ้นการท่องเที่ยวในอีอีซี

รายงานข่าวจากกองทัพเรือระบุว่า ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบในอนาคตจะกลายเป็นท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เป็นครุยซ์พอร์ตที่ขนส่งได้ทั้งคนและรถยนต์ โดยเชื่อมการเดินทางมาจากเส้นทางในประเทศ เช่น ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกาะช้าง จ.ตราด กรุงเทพฯ และเชื่อมเส้นทางต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ กลายเป็นท่าเรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า เป็นทางเลือกใหม่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือทัวร์ต่างๆ อาจเดินทางมาทางเรือสำราญ และต่อการเดินทางไปจุดหมายปลายทางอื่นด้วยสนามบินอู่ตะเภาก็ได้

แผนพัฒนาภายในท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ขณะนี้ ทร.ได้ขุดร่องน้ำให้ลึกและกว้างขึ้นแล้ว หลังจากส่วนแรกนี้แล้วเสร็จก็จะสร้างท่าเรือครุยซ์ สร้างแนวกันคลื่น โดยแผนก่อสร้างทั้งหมดจะต้องเสร็จภายในปี 2563 เพื่อเปิดใช้งานปี 2564 ซึ่งจะทำให้ไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งทางน้ำเชื่อมโยงในภูมิภาค และสร้างรายได้จากการเดินทางขนส่งสินค้าและคนอย่างสะดวกให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กองทัพเรือ วางแผนดำเนินการคู่ขนาดระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะหาที่ปรึกษาบริหารจัดการด้านการตลาด เพื่อดึงบริษัทเดินเรือครุยซ์เพื่อการท่องเที่ยวมาใช้ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีเรือครุยซ์มาใช้บริการเฉลี่ยเพียง 1 ลำต่อปี ตั้งเป้าจะให้เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ลำต่อปี แต่ระหว่างไม่มีเรือมาใช้บริการจะนำพื้นที่ดังกล่าวจอดเรือรบทางทหาร

ทร.เร่งแผนอีอีซี8โครงการ

สำหรับในปีงบประมาณ 2562 กองทัพเรือได้รับการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจำนวน 8 รายการวงเงิน 517 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.งานจ้างศึกษา สำรวจ และออกแบบโครงการ Medical Hub วงเงิน 10 ล้านบาท

2.โครงการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการขนส่งหลายรูปแบบของท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ-กองทัพเรือ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี วงเงิน 29 ล้านบาท 3.โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือน้ำมัน เพื่อเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ โครงการก่อหนี้ผูกพันวงเงิน 86.234 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการ (Business Area) เชื่อต่อพื้นที่ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์วงเงิน 50 ล้านบาท

5.การศึกษา สำรวจ และออกแบบงานก่อสร้าง Commercial Gateway วงเงิน 10 ล้านบาท 6.การจ้างศึกษา สำรวจ และออกแบบ พัฒนาพื้นที่ Free Trade Zone วงเงิน 10 ล้านบาท 7.โครงการปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือ ท่าเรือ จุกเสม็ดระยะที่ 2 วงเงิน 249.69 ล้านบาท และ 8.โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ฯ วงเงิน 72.23 ล้านบาท