ไทยช่วยโรฮิงญาคืนถิ่นพัฒนาเศรษฐกิจ‘ยะไข่’

ไทยช่วยโรฮิงญาคืนถิ่นพัฒนาเศรษฐกิจ‘ยะไข่’

การพัฒนาพื้นที่รัฐยะไข่ให้มีความอยู่ดีกินดี จะช่วยส่งเสริมภาพรวมต่อเศรษฐกิจเมียนมาได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่สมาชิก10 ประเทศอาเซียนต่างเห็นพ้องและร่วมกันคืนความสุขให้ชาวบ้านในรัฐยะไข่

ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนต่อผู้ประสบภัยชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ ซึ่งอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศกว่า 7 แสนคนได้กลับประเทศว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 มองว่า เสถียรภาพและความสันติสุขในรัฐยะไข่ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมรวมไปถึงการลงทุนจากต่างชาติ และการท่องเที่ยวของเมียนมา

รมว.ดอน ได้เล่าถึงการเดินทางเยือนเมียนมาในวันที่ 7-8 มี.ค.และบังกลาเทศวันที่ 3-4 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อหารือกับผู้แทนระดับสูงของ 2 ประเทศ เพื่อจัดส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่กลับประเทศว่า ตนเดินทางไปในฐานะประธานอาเซียน เพื่อรับรู้ทัศนคติของทั้งเมียนมาและบังกลาเทศ ไม่ได้ไปเพื่อกระตุ้นให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องทำอะไรเป็นพิเศษ โดยทั้งเมียนมาและบังกลาเทศมีท่าทีในเชิงบวก และให้การรับประกันจะนำกลุ่มชาวโรฮิงญาซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวที่ตั้งอยู่ชายแดนบังกลาเทศ ได้เดินทางกลับคืนถิ่นอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ รมว.ดอน ได้หารือกับ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ซึ่งทางเมียนมามีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความตั้งใจจะช่วยแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่ โดยไม่ขัดข้องจำนวนผู้ถูกส่งกลับเข้าประเทศแต่เมียนมาต้องการให้กลุ่มลี้ภัยได้เข้าสู่ระบบตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและการคัดกรองเข้าประเทศที่เมียนมากำหนดขึ้น จากนั้นจะออกเอกสารแสดงตัว สำหรับผู้ลี้ภัยที่ตะเข้ามาในรัฐยะไข่ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับกรีนการ์ดของสหรัฐ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของบุคคลนั้น ๆ แต่ไม่ได้ให้สิทธิเลือกตั้ง

“เดิมนั้นเมียนมาและบังกลาเทศมีแผนส่งผู้ลี้ภัยราว 2,000คนกลับประเทศในวันที่ 15 พ.ย.ปีที่แล้วแต่ต้องมีเหตุให้เลื่อนไป เกิดจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อบรรยากาศความไว้วางใจในพื้นที่ ทำให้เมียนมายังไม่พร้อมที่จะรับกลุ่มผู้ลี้ภัยกลับ โดยที่กลุ่มผู้ก่อกวนความสงบในพื้นที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่กลับประเทศ แต่เราทราบว่า เมียนมามองหาวิธีเชิงป้องกัน และพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา จะไม่เกิดขึ้นอีก”

รมว.ดอน ชี้ว่า เป็นที่น่าสังเกตในพื้นที่ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวพุทธ หรือชาวโรฮิงญายังใช้ชีวิตในรัฐยะไข่อยู่ได้นี่จะเป็นกรณีศึกษาที่จะสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ในรัฐยะไข่ยังมีจุดที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข

ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้การทูตแบบเงียบ (Quiet Diplomacy) หารือกับเมียนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชาวโรฮิงญาอพยพหนีภัยออกนอกประเทศ โดยไทยได้ร่วมศึกษาปัญหาและเดินทางลงพื้นที่รัฐยะไข่ หวังให้ความร่วมมือด้านพัฒนาพื้นที่และชุมชนในรัฐยะไข่เพื่อส่งเสริมแหล่งทำมาหากิน และสร้างอาชีพที่ยั่งยืนไม่เพียงเฉพาะชาวมุสลิม ยังรวมถึงชาวพุทธในพื้นที่อีกด้วย อาทิ การอบรมให้ความรู้ด้านการเกษตรภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงการสร้างโรงสีข้าว การส่งรถโมบายตรวจสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน  ทางการไทยได้ให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่รัฐบาลบังกลาเทศ จำนวน 1.5 แสนดอลลาร์(ประมาณ 5 ล้านบาท)ผ่านโครงการอาหารโลก เพื่อนำเงินไปดูแลผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายพักพิงชั่วคราวที่ตั้งอยู่ชายแดนบังกลาเทศ

สำหรับการเยือนทั้ง 2 ประเทศครั้งนี้รมว.ดอนจะรายงานต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนทราบ เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ และคาดว่า การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยดำเนินการเรื่องการส่งกลับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้