สินทรัพย์เกษตรไทย แปลงงานวิจัยหิ้งวิ่งสู่ตลาด

สินทรัพย์เกษตรไทย แปลงงานวิจัยหิ้งวิ่งสู่ตลาด

เปิดเส้นทางห่วงโซ่ข้าวสารจาก 15,000 บาทต่อตัน สู่ข้าวตอกเม็ด 7 ล้านบาทต่อตัน แรงบันดาลใจเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์เกษตรในดินของไทยด้วยนวัตกรรม งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

ความล้มเหลวของวิถีชีวิตเกษตรกรลูกชาวนาไทยติดบ่วงความยากจน ปลูกข้าวถูกกดราคา เพราะขาดองค์ความรู้ใหม่เข้ามาต่อยอด เช่นเดียวกันองค์ความรู้ ผลงานวิจัยดีๆบ่อยครั้งถูกแขวนไว้บนหิ้งไม่ตอบโจทย์ตลาด ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่จะต่อยอด“ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ”ของไทย หล่นหายระหว่างทางเพราะถูกตัดตอนไม่เชื่อมต่อกัน

การจะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืนได้ จึงต้องมีสะพานเชื่อมต่องานวิจัยให้นำไปสู่การผลิตเพื่อขายได้อย่างแท้จริง กลายเป็นต้นแบบของการแปลงร่าง “ข้าวพันธุ์ไทย” เป็น“ข้าวตอกเม็ด” บุกตลาดโลก

หนึ่งในผลงานต้นแบบของ “ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง” เกษตรกรรุ่นใหม่จากจังหวัดชัยนาท ผู้ที่ลาออกจากผู้จัดการโรงงานเงินเดือน6หมื่นบาท เพื่อพลิกฟื้นผืนนาเป็นเกษตรอินทรีย์ ตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาคือลูกชาวนาที่ไม่เคยง้อตลาด แต่ทำให้ตลาดต้องง้อซื้อข้าวแบรนด์ “ออริจิไรซ์” ขายล่วงหน้าได้ถึง 8 หมื่นต่อตัน

นั่นเป็นเพียงปฐมบทของความก้าวหน้าลูกชาวนาไทย ที่ตั้งใจต่อยอดข้าวไทยให้ไปไกลกว่าเส้นทางขายข้าวสาร จึงใช้เวทีอบรมของหน่วยงานภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ต่อยอดวิถีชาวนาอัจฉริยะ หรือ "สมาร์ทฟาร์มเมอร์”

ผ่านหลักสูตร "การแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรสู่การเริ่มต้นธุรกิจ" เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับบริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Conceptual Development Intellectual Properties” นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ปั้นบริษัทรับจ้างวิจัยเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์

เกษตรกรหัวก้าวหน้า อย่างปรีดาธพันธุ์ ไม่ได้สนใจโครงการกู้เงินของธ.ก.ส.ตามคำเชิญชวนของธนาคารแต่แรก แต่การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เกิดจากการเห็น “เส้นทางไปต่อถึงดวงดาว”ของผลิตภัณฑ์ข้าวไทยต่างหาก 

“แรกเริ่มธ.ก.ส.อยากให้กู้ แต่เราหยิ่งไม่กู้ เพราะเราขายข้าวล่วงหน้าก็ได้ราคาสูงอยู่แล้ว แต่แจ้งธ.ก.ส.ว่าต้องการโครงการพัฒนาการขายข้าว หรือต่อยอดข้าวไปสู่นวัตกรรม เราเลยสนใจ”

เขาจึงเป็นหนึ่งใน 72 เกษตรกรทั่วประเทศที่ถูกคัดเลือกเข้ามาอบรมให้เข้าใจกระบวนการวิจัยสู่นวัตกรรม จนถึงการแปรรูปเพื่อขายในตลาดตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา หลังผ่านด่านอบรมจะคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าตาคิดค้นผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้เหลือเกษตรกรอยู่ 18 คนจน รอบสุดท้ายคัดออกเหลือเพียง 4-5 รายที่มีผลิตภัณฑ์พัฒนาต่อยอดขายในตลาดจนถึงระดับส่งออกได้

ปรีดาธพันธุ์ ได้เป็นต้นแบบของเกษตรกร ซึ่งได้รับทุนจากสวทช.และธ.ก.ส.เป็นเงิน 3 แสนบาท นำแนวคิดสู่ผลงานวิจัยข้าวไปพัฒนาต่อยอด จากนั้นก็ได้คูปองนวัตกรรมอีก 6 แสนบาท เพื่อพัฒนาข้าวสู่อาหารเสริม “ข้าวตอกเม็ด แบรนด์ไบรท์” ที่ได้รับมาตรฐานการผลิต เพื่อนำไปสู่การส่งออก 

“พอได้รับทุนสนับสนุนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จากการวิจัยค้นพบคุณค่าสารอาหารในข้าวที่รับรองได้ จึงพัฒนาต่อยอดไปสู่กระบวนการผลิตที่เก็บรักษาคุณค่า อายุผลิตภัณฑ์ข้าวตอกเม็ดให้ยาวนาน” เขาเล่า

จากนั้นจึงนำไปสู่การพัฒนาการผลิตไปสู่ระบบอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานพร้อมส่งออก โดยการไปขอสินเชื่อจากธ.ก.ส. แต่ปรากฏว่าธ.ก.ส. และนักลงทุน ขอร่วมทุนมูลค่า 10 ล้านบาท สำหรับพัฒนาข้าวตอกเม็ด 3 สายพันธุ์ คือ ไรซ์เบอร์รี่, ทับทิมชุมแพ, ข้าวสินเหล็ก และข้าวหอมมะลิ พัฒนาเป็น 4 รสชาติที่สอดคล้องกับตลาดนิยม คือ โกโก้ สตรอเบอร์รี่ วนิลา และทุเรียน

"ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างออกงานแฟร์แนะนำสินค้า เพื่อรอคำสั่งซื้อเข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศ และส่งออก ซึ่งเส้นทางของเกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ได้เติบโตคนเดียวแต่ร่วมมือกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ทั้งห่วงโซ่ได้รับประโยชน์เพิ่มร่วมกัน"

ด้าน ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด มองโครงการนี้เป็นความร่วมมือภาครัฐ และซีดีไอพี เป็นธุรกิจรับวิจัยและพัฒนาตามโจทย์และแนวคิดลูกค้า เพื่อเข้าสู่ตลาดให้ขายได้ ซึ่งผลงานวิจัย"ข้าวตอกเม็ด ไบรท์” เป็นแนวคิดของคุณปรีดาธพันธุ์ เป็นโครงการนำร่องที่ร่วมมือกันหลากหลายภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรต้นแบบไปถึงฝันของเป็นนักธุรกิจ 

ถือเป็นเส้นทางห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตรไทยที่ครบวงจร เริ่มต้นเกษตรกรมีแนวคิด เปิดโลกทัศน์ไปค้นหางานวิจัย และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ มีการอบรมเพิ่มเติมความรู้ จนกระทั่งขอทุน และระดมทุน แสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน นี่คือชาวนาไทยยุค 4.0 ที่จะต้องเปิดโลกทัศน์

กว่าจะฝ่าด่านเป็น “ข้าวตอกเม็ด ไบรท์” ใช้เวลากว่า 2 ปี นำเสนอผลงานจนได้รับทุนจากหน่วยงานภาครัฐ

“เกษตรกรต้องอึด และอดทนมาก จึงฟันฝ่าไปนำเสนอผลงานต่อภาครัฐ ซึ่งกลุ่มธุรกิจในเครือ ซีดีไอพี ช่วยขอทุน และจากนั้นก็ส่งต่อมายังบริษัทในเครือ เจเอสพี (บริษัทรับจ้างผลิต) ที่ได้รับมาตรฐานโลก เมื่อผลิตเสร็จแล้วก็ช่วยขอใบอนุญาต จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะเรามีประสบการณ์ผลิตสินค้าผ่านอย. นับพันรายการ”

สำหรับโครงการต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากข้าวนี้ ช่วยยกระดับขายทั่วไปในตลาดมูลค่าจาก 15,000 บาทต่อตัน เมื่อถูกแปลงเป็นข้าวตอกเม็ด พร้อมทานจะขายได้มูลค่าเพิ่มถึง 7 ล้านบาทต่อตัน

ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ร่ำรวย ถดถอย เพราะลูกหลานไปทำอาชีพอื่น ไม่ภูมิใจในอาชีพพ่อแม่ ขาดองค์ความรู้ใหม่ๆ มาสานต่อ นี่จึงเป็นต้นแบบของเกษตรกรยุค 4.0 ผู้ฝ่าด่านเปิดโลกทัศน์ค้นหาความรู้

“เกษตรกรหากตั้งใจจริง จะมีเงินหนุนจากภาครัฐ และผลงานวิชาการมากมาย ขอเพียงอึด ใจเย็น กัดไม่ปล่อย ไม่ล้มเลิก” เขาแนะเกษตรกรไทย

ขณะที่มืองไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหารที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สินค้าไทยเมื่อไปวางคู่กันกับชาติอื่น อาทิ เกาหลี และญี่ปุ่น ไม่ได้ด้อยกว่าชาติใดในโลก 

“วัดมวยเมดอินไทยแลนด์สินค้าติดธงไทย พืชพันธุ์ ธัญญาหารไทยทั่วโลกต้องการ ยิ่งต่อยอดนวัตกรรมยิ่งเพิ่มมูลค่าแตกต่างจากตลาด”

ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจับมือร่วมกันระหว่างผู้ผลิตโรงงาน และเกษตรกร ร่วมเป็นห่วงโซ่แห่งคุณค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์เติบโตในตลาดส่งออก ที่จะเป็นโมเดลในการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยให้ต่อยอดได้อย่างไร้ขีดจำกัด 

“หากกอดคอเดินไปด้วยกัน พัฒนาได้อีกมากมาย ให้โตไปด้วยกันไม่ทิ้งใครไว้ครั้งหลัง พาเพื่อนเกษตรรกรไปด้วยกัน หากคนปลูกเก่งก็ป้อนให้กับโรงงาน ผมปลูกไม่เก่ง กลัวแดด แต่มีงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และผลิตเก่ง ก็ร่วมมือกัน”

----------------------

สูตรปั้นนวัตกรรมขายได้

-หยิบงานวิจัยที่ตลาดต้องการ

-เกษตรกรใฝ่รู้ อึด กัดไม่ปล่อย

-เลือกโครงการหนุนต่อยอด

-หาพันธมิตรในจุดที่ขาย