ดึง 'อาลีบาบา' ใช้คิวอาร์โค้ดอาเซียน

ดึง 'อาลีบาบา' ใช้คิวอาร์โค้ดอาเซียน

"รัฐมนตรีคลังอาเซียน" เห็นชอบกรอบความร่วมมือพัฒนาระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวก เตรียมดึงอาลีบาบาร่วมพัฒนาใช้ QR Code อาเซียน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 23 และ เป็นประธานร่วมกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 5 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในประเด็นหลักที่เป็นกรอบการดำเนินการของไทยใน 3 เรื่อง คือ 1.ความเชื่อมโยง โดยจะพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในอาเซียน

2.ความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสนับสนุนการเจข้าถึงบริการทางการเงิน และ 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

"เริ่องที่เราหารือส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เราทำมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องใหม่ที่เราผลักดัน คือ เรื่องของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเพย์เมนท์เพื่อเชื่อมโยงระบบการชำระเงินให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่เกิดความร่วมมืออย่างเป็นทางการ"

ทั้งนี้ เมื่อระบบอีเพย์เมนท์พัฒนาแล้ว ต่อไปเราจะพัฒนาระบบการชำระเงินที่เรียกว่า QR Code ร่วมกัน เบื้องต้น ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย และลาว สนใจจะพัฒนาระบบนี้ร่วมกับไทย ทั้งนี้ ในครั้งนี้ เราได้บอกทางอาลีบาบาว่า ควรที่จะใช้ระบบQR Code ในการชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายผ่านอาลีบาบาด้วยเช่นกัน ซึ่งอาลีบาบาก็สนใจและจะประสานกับแบงก์ชาติไทยในเรื่องดังกล่าว
เขากล่าวด้วยว่า การใช้ระบบอีเพย์เมนท์ของไทยได้ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น โดยปัจจบันประชากรของไทยกว่า 40 ล้านคน ใน 60 ล้านคน ได้ใช้ระบบอีเพย์เมนท์แล้ว ขณะที่ ในที่ประชุมมีการพูดถึงว่า ไทยสามารถบริการทางการเงินได้ถึง 80% ซึ่งเราได้บอกไปว่า หากนับคนจนที่ใช้บัตรคนจนผ่านระบบอีเพย์เมนท์ภาครัฐด้วยแล้ว จะถือว่า ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้เกือบ 100% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบที่จะร่วมกันผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบASEAN Single Window ได้ครบทั้ง 10 ประเทศภายในปีนี้ โดยรับรองความคิดริเริ่มเรื่องมาตรฐานของหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการคืนภาษีให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน และ รับรองแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนของที่ประชุมหน่วยกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน