ม.ญี่ปุ่นผนึก 'สจล.-สยาม' สร้างคนเก่งเทคโนโลยีชั้นสูง

ม.ญี่ปุ่นผนึก 'สจล.-สยาม' สร้างคนเก่งเทคโนโลยีชั้นสูง

“สกพอ.” เร่งปั้นธุรกิจ “เอสไอ” หนุนการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม คาดตลาดในประเทศโต 1.6 แสนล้านบาท ดึง 2 มหาวิทยาลัย ชั้นนำญี่ปุ่น ลงทุนร่วมมหาวิทยาลัยไทย 3 แห่ง สร้างบุคลากรในเทคโนโลยีชั้นสูง 

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยระหว่างการสัมมนาสัญจรอินเตอร์แมค และซับคอน ไทยแลนด์ 2019 ในหัวข้อ “เทคโนโลยีและการสนับสนุนอุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์” ว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ มีความสำคัญมากในการทำให้อุตสาหกรรมไทยอยู่รอดในอนาคต เพราะขณะนี้ต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นทุกด้าน ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่เร่งปรับตัวนำเครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์มาใช้ภายใน 3-5 ปี จะแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการภาษีและมาตรการฝึกอบรม เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนด้านนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยคาดว่าใน 5 ปี อุตสาหกรรมไทยจะลงทุนซื้อเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 4 แสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ ไทยจะสูญเสียเงินนำเข้าจำนวนมาก

ในระยะสั้นต้องส่งเสริมให้เกิดธุรกิจด้านออกแบบระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (เอสไอ) ที่เป็นของไทยให้มากขึ้น เพราะมูลค่าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในโรงงานจะเป็นต้นทุนของการจ้างเอสไอ 30-40% ซึ่งจะทำให้ยอดเงินที่ต้องซื้อหุ่นยนต์จะอยู่ภายในประเทศ 1.6 แสนล้านบาท ในขณะนี้มีบริษัทเอสไอกว่า 200 ราย แต่ที่มีประสิทธิภาพระดับสูง 40-50 ราย ซึ่งจะต้องเร่งสร้างเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและคุณภาพ

ม.ญี่ปุ่นผนึก 'สจล.-สยาม' สร้างคนเก่งเทคโนโลยีชั้นสูง

ทั้งนี้ หลังจากที่มีกลุ่มเอสไอที่เข้มแข็ง ก็จะรองรับความต้องการใช้หุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นได้ ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นถึงระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุนตั้งโรงงานผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทผลิตหุ่นยนต์จากทั่วโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานในแนวนี้ทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง ทั้งฐานการผลิต และบุคลากร

นอกจากนี้ ล่าสุด สกพอ.เดินทางไปญี่ปุ่น เชิญชวนมหาวิทยาลัยชั้นนำ 2 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยโตเกียว มีความโดดเด่นในด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ชั้นสูง 2.มหาวิทยาลัยวาเซดะ ที่ชำนาญเรื่องหุ่นยนต์และเทคโนโลยีทั้งหมด

รวมมือ3มหาวิทยาลัยไทย

โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทย 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 2.มหาวิทยาลัยสยาม 3.สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (ทีเอ็นไอ) โดยจะเดินทางมาเจรจาในรายละเอียดในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งจะช่วยผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้เป็นจำนวนมาก

รวมทั้งบริษัทมิตซูบิชิ ได้ลงทุน 100 ล้านบาท ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาที่ลงทุน 45 ล้านบาท ตั้งสถาบันฝึกอบรมบุคลากรในเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดว่าจะผลิตได้ 4,000-5,000 คนต่อปี
“ที่ผ่านมาเคยมีมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมายต้องใช้เวลาขออนุญาตนานกว่า 4 ปี ทำให้ไม่สนใจเข้ามาตั้ง แต่รัฐบาลได้ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ต่างชาติเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้นลดเวลาลงเหลือ 2-3 เดือน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนจากสหรัฐ เข้ามาขอตั้งแล้วใช้เวลาดำเนินการ 3 เดือน มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเข้ามาร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ใช้เวลา 2 เดือน”

แนะรายใหญ่ขอสิทธิประโยชน์

นายชิต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีบริษัทหลายรายที่จะลงทุนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เช่น คลังสินค้าอัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ต่างๆในโรงงาน แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่สามารถให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนได้ เพราะว่ากฎหมายของ บีโอไอ จะให้สิทธิประโยชน์ตามกิจการที่กำหนดให้การส่งเสริม แต่กิจการบางอย่าง เช่น กิจการปูนซิเมนต์, กลุ่มซีพี กลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจาก บีโอไอ แต่จะลงทุนเครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ การสร้างคลังสินค้าอัจฉริยะระบบอัตโนมัติ โดย สกพอ.จะพิจารณาให้

“พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีอำนาจในการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีในส่วนของกิจกรรมลงทุนในรายคลัสเตอร์ที่ให้การส่งเสริม หากเรื่องใดที่ บีโอไอ ทำไม่ได้ ก็ขอให้ส่งเรื่องมาให้ สกพอ.พิจารณาให้ได้ตามกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยปิดช่องว่างต่างๆ ที่หน่วยงานราชการเดิมไม่สามารถช่วยได้ ส่งเรื่องมาให้ สกพอ.หาทางแก้ไขต่อไป”

เอสเอ็มอีตื่นตัวใช้หุ่นยนต์

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ จะเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น ดังนั้น ยูบีเอ็ม จึงได้จัดงานอินเตอร์แมคและเอ็มทีเอ 2019 ซึ่งเน้นนำเสนอความก้าวหน้าของภาคการผลิต โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี มีการตื่นตัวในเรื่องของเทคโนโลยีอย่างมาก ทั้งระบบออโตเมชั่น เทคโนโลยีเอไอ การนำเอาซอฟต์แวร์มาจัดการในสายการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบของ Big Data ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน และ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ภายในงานได้รวบรวมเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเครื่องตัดเลเซอร์กว่า 1,200 แบรนด์ จาก 45 ประเทศ มีพาวิลเลียนชั้นนำจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และจีน มีการสาธิตแสดงสายการผลิตอัจฉริยะ รวบรวมเทคโนโลยีการผลิตจากแบรนด์ชั้นนำ คาดว่ามีผู้ตัดสินใจซื้อมากกว่า 4.7 หมื่นคน จาก 45 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นงานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมงานแรกของปี ซึ่งตรงกับรอบการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีของอุตสาหกรรม ที่สำคัญภายในงานมีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
“ปีนี้เป็นครั้งแรกที่จัดงานใน จ.ชลบุรี ซึ่งผู้ประกอบการในอีอีซีเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่สำคัญ คิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของผู้ร่วมงาน และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เนื่องจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี"