'เอกชัย' ร้องยธ.ขอคุ้มครองพยาน

'เอกชัย' ร้องยธ.ขอคุ้มครองพยาน

“เอกชัย” ร้องยธ.ขอคุ้มครองพยาน ด้าน "รองปลัดยธ." แจงเงื่อนไข ต้องอยู่ในสายตาเจ้าหน้าที่ 24 ชม. งดกิจกรรม-ห้ามเคลื่อนไหวทาวการเมือง ระหว่างรอฟังผลรับ-ไม่รับคุ้มครอง ประสานตร.ท้องที่ดูแลความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.62 นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เข้ายื่นคำร้องต่อสำนักคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพ เพื่อขอคุ้มครองพยาน ในฐานะเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา หลังจากถูกทำร้ายร่างกายหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ และล่าสุดถูกมือมืดราดน้ำมันเผารถยนต์ที่เก็บเอกสารบัญชีรายชื่อยื่นถอดถอน กกต. ซึ่งจอดไว้หน้าบ้าน โดยเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองพยานได้ให้นายเอกชัยเขียนคำร้องและเหตุในการขอเข้าคุ้มครองพยาน

พร้อมชี้แจงเงื่อนไขให้นายเอกชัยรับทราบ กรณีที่จะได้รับการคุ้มครองพยานตามพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญามี 2 มาตรา คือ มาตรา 6 กรณีที่พยานเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือสำนักคุ้มครองพยานอาจจะจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร หรือตามที่ได้ร้องขอ โดยเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองพยานจะต้องสืบเสาะพฤติกรรมของผู้ร้องว่าเข้าข่ายจะได้รับการคุ้มครองพยานหรือไม่ และจะประสานกับตำรวจพื้นที่ๆ ผู้ร้องอาศัยอยู่ให้ดูแลความปลอดภัยก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคุ้มครองพยานพิจารณา โดยจะให้เวลาประมาณ 20 วัน และมาตรา 7 กรณีครอบครัวพยานไม่ได้รับความปลอดภัยสามารถขอให้คุ้มครองครอบครัวของพยานได้

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ รับคำร้องแล้วจะสอบปากคำผู้ร้อง และลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง สืบเสาะพฤติกรรม ตรวจสอบข้อมูลการโทรศัพท์ของผู้ร้องว่ามีความไม่ปลอดภัยอย่างไร มีผู้โทรมาข่มขู่คุกคามหรือไม่ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองพยานพิจารณาความร้ายแรงของคดี เพื่อจะพิจารณาว่าจะให้การคุ้มครองพยานแบบทั่วไป หรือคุ้มครองพยานแบบพิเศษ โดยคณะกรรมการฯสามารถเรียกนายเอกชัยมาให้ข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งหากได้รับการคุ้มครองพยานแบบพิเศษ ผู้ที่อยู่ในความคุ้มครองจะต้องอยู่ในเซฟเฮาส์ และอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ 24 ชั่วโมง โดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ จะดูแลค่าที่พักและค่าอาหาร โดยพยานจะไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆได้ตามปกติ

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ได้รับการคุ้มครองพยานแบบทั่วไป เมื่อผู้อยู่ในความคุ้มครองพยานต้องการเดินทางจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ และต้องงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือส่อในทางที่ถูกข่มขู่คุกคาม เนื่องจากถือว่าอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่แล้ว หากเป็นอะไรไปเจ้าหน้าที่ก็ถือมีความผิด สำหรับการขอคุ้มครองพยานเพื่อเดินทางไปขึ้นศาลถือเป็นการคุ้มครองพยานแบบทั่วไป ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ อาจทำเองหรือประสานตำรวจท้องที่ดำเนินการก็ได้

“หากการคุ้มครองพยานและเกิดความเสียหายโดยตรงต่อการทำผิดอาญาโดยเจตนา เช่น กรณีที่รถยนต์ถูกเผาก็ให้ประเมินหรือเทียบเคียง โดยกระทรวงยุติธรรมะจ่ายชดเชยค่าเสียหายไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่ถ้ามีสินไหมประกันจ่ายแล้วก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยในส่วนนี้ และหากไม่ได้รับคุ้มครองก็สามารถเขียนคำร้องอุทธรณ์ขอให้รับคุ้มครองพยานได้อีกครั้งตามกฎหมายกำหนดภายใน 30 วัน” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว