“ไอบีเอ็ม”ลุยลงทุน บล็อกเชนเวิลด์ไวร์

“ไอบีเอ็ม”ลุยลงทุน บล็อกเชนเวิลด์ไวร์

ไอบีเอ็ม เปิดตัว “ไอบีเอ็มบล็อกเชนเวิลด์ไวร์” (IBM Blockchain World Wire) เครือข่ายชำระเงินทั่วโลกเรียลไทม์ สำหรับสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล เตรียมเดินหน้าขยายบริการสู่ประเทศอื่นเพิ่ม

เวิลด์ไวร์เป็นเครือข่ายบล็อกเชนแห่งแรกที่รวมระบบข้อความการชำระเงิน (payment messaging) การหักบัญชี (clearing) และการชำระดุล (settlement) ไว้ในเครือข่ายเดียว ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความเร็วในการแลกเปลี่ยนเงินตรา การชำระเงินข้ามประเทศ การโอนเงิน โดยเปิดให้ผู้ใช้บริการเลือกได้ว่าจะใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสกุลใดในการชำระดุล

“เราได้พัฒนาเครือข่ายชำระเงินรูปแบบใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการโอนเงิน และเปิดมิติใหม่ของการชำระเงินข้ามประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้การเคลื่อนย้ายเงินในประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบนี้มากที่สุด”

ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวพร้อมระบุว่า ไอบีเอ็มคาดหวังว่า การสร้างเครือข่ายที่ช่วยให้สถาบันการเงินให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลได้หลากหลายประเภท จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วโลก

ปัจจุบันเวิลด์ไวร์เปิดให้บริการใน 72 ประเทศ 47 สกุลเงิน และในธนาคาร 44 แห่ง โดยไอบีเอ็มกำลังเดินหน้าขยายเครือข่ายกับสถาบันการเงินทั่วโลก ภายใต้กฎข้อบังคับของแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางในการเปิดใช้บริการ

เวิลด์ไวร์ เป็นรูปแบบบริการการชำระเงินข้ามประเทศที่ช่วยลดความซับซ้อน ใช้โปรโตคอลของสเตลลาร์ (Stellar) ให้สามารถโอนเงินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แทนวิธีการโอนเงินผ่านธนาคารตัวแทนต่างประเทศแบบทั่วไปที่ซับซ้อน แนวทางนี้ ช่วยลดตัวกลางในการโอนเงิน และช่วยให้ผู้ใช้สามารถดำเนินการชำระดุลได้ในเวลาไม่กี่วินาที ผ่านการส่งมูลค่าเงินในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่เป็นที่รู้จักในนามคริปโตเคอร์เรนซี (crytocurrency) หรือ “สเตเบิลคอยน์” (stable coin) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารสภาพคล่อง เพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบยอดชำระเงิน และลดต้นทุนการทำธุรกรรมโดยรวมให้แก่สถาบันทางการเงิน

ปัจจุบันเครือข่ายเวิลด์ไวร์รองรับการชำระดุลโดยใช้สเตเบิลคอยน์สเตลลาร์ลูเมนส์และดอลลาร์สหรัฐได้แล้ว อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มและสตรองโฮลด์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยังมีธนาคารระหว่างประเทศ 6 แห่ง อาทิ ธนาคารบังโก บราเดสโก ธนาคารปูซาน ธนาคารพาณิชย์ริซัล (RCBC) ที่ลงนามในหนังสือแสดงเจตนารมณ์เพื่อจัดตั้งสเตเบิลคอยน์ของตนเองบนเวิลด์ไวร์ และกำลังรอการอนุมัติจากหน่วยงานที่ตรวจสอบและกํากับดูแลต่างๆ ซึ่งจะนำสู่การเพิ่มสเตเบิลคอยน์ในสกุลเงินยูโร รูเปียห์ (อินโดนีเซีย) เปโซ (ฟิลิปปินส์) วอน (เกาหลี) และเรียล (บราซิล) เข้าสู่เครือข่าย โดยไอบีเอ็มจะเดินหน้าขยายอิโคซิสเต็มของเวิลด์ไวร์ตามที่ลูกค้าได้แจ้งความประสงค์เข้ามาต่อไป