'กฤษฏา' เซ็ทซีโร่ขาใหญ่นมโรงเรียน ทั้งระบบ

'กฤษฏา' เซ็ทซีโร่ขาใหญ่นมโรงเรียน ทั้งระบบ

"อวสาน" ขาใหญ่นมโรงเรียน "กฤษฏา" เซ็ทซีโร่ทั้งระบบ กระจายเด็กงบ1.4 หมื่นล้านต่อปี เกลี่ย 5 ภูมิภาค ผู้ว่าฯ เป็นประธานแบ่งโควต้าใหม่ จัดสรรสิทธิทั่วประเทศ

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ตามมติครม. ให้ปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการ มีกรรมการจากหน่วยงานที่กำกับดูแลการผลิตและจำหน่ายน้ำนม 3 คน กรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต 2 คน กรรมการจากหน่วยงานที่เป็นผู้รับบริการ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานคณะกรรมการแต่งตั้งอีก 3 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน

โดยปลัดกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า จะประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนครั้งแรกในวันที่ 4 เม.ย.นี้เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุดได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารกลางทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินโครงการนมโรงเรียน คณะอนุกรรมการรรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับเพื่อเพิ่มอัตราการดื่มนมจาก 18 ลิตรต่อคนต่อปี เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2564 และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับกลุ่มพื้นที่ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ครอบคลุม 7 เขตรายภูมิภาคพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมมาก และคณะอุนกรรมการอื่นๆ ที่จำเป็น

“ต้องเร่งชี้แจงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจระบบบริหารจัดการใหม่ ในการจัดสรรสิทธิ(โควต้า)ให้ผู้ประกอบและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนได้กระจายอำนาจไปให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่ม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทันเปิดภาคโรงเรียนเปิดเทอม 1 วันที่ 16 พ.ค.จะให้คณะอนุกรรมการบริหารกลางจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนไปก่อน โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์รายงานว่า จะประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิให้แก่ผู้ประกอบการจำหน่ายในวันที่ 5 เม.ย.นี้”นายกฤษฏา กล่าว

นายกฤษฏา กล่าวว่า ในเบื้องต้นคณะกรรมการฯต้องสำรวจจำนวนนักเรียนในโครงการทั่วประเทศ มีประมาณ 7.3 ล้านคนอย่างชัดเจนทุกเทอม กำหนดให้เกษตรกร กลุ่มเกษตร หรือสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่จะร่วมจำหน่ายน้ำนมดิบในโครงการนมโรงเรียนต้องขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ส่วนที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมโคและผู้ประกอบการแปรรูปต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าโครงการนมโรงเรียน

 

อีกทั้งเปลี่ยนจากการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขาย (MOU) ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย มาเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างกัน ตามพ.ร.บ. เกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เพื่อที่จะทำให้ทราบชัดเจนถึงปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ ตลอดจนปริมาณรับซื้อน้ำนมดิบมาแปรรูปเพื่อผลิตนมโรงเรียนที่แท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเองว่า ผู้ประกอบการหลายรายแจ้งปริมาณรับซื้อน้ำนมดิบเป็นเท็จ ทำให้มีตัวเลขนมเกินปริมาณนมที่เข้าโครงการ โดยแจ้งมากกว่าที่รับซื้อจริง

 

ดังนั้นจึงเร่งจัดทำระบบฐานข้อมูล (Big Data) จะทำให้รู้ทั้งปริมาณนมแท้จริงเท่าไหร่ และผู้ประกอบการรายไหนซื้อนมจากเกษตรกร รายใด ต้องเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด เพื่อควบคุมทั้งปริมาณและคุณภาพของนม เพื่อแก้ปัญหาข้อร้องเรียนเข้ามามากถึงการจัดสรรสิทธิ ตามข้อเสนอแนะจากสำนักป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจาก คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อันเนื่องมาจากมีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนมโรงเรียน

 

รัฐบาลถือว่า โครงการนมโรงเรียนนี้เป็นโครงการแห่งชาติ จึงปฏิรูปแนวทางบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น จากที่ผ่านมาพบปัญหา เกษตรกรบางรายแจ้งส่งน้ำนมแก่ศูนย์รวบรวมนมหลายแห่ง รวมแล้วเกินกว่าน้ำนมที่ผลิตได้ในแต่ละวัน ขณะเดียวกันศูนย์รวบรวมน้ำนมโคก็แจ้งการรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรมากกว่าปริมาณน้ำนมที่รวบรวมได้แต่ละวัน จนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันว่า แจ้งข้อมูลเท็จเพื่อขอรับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนมากกว่าเกณฑ์

 

นอกจากนี้ตามมติครม.ใหม่ได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเข้มงวดขึ้นและในอนาคตจะเพิ่มสารอาหารเช่น เติมไอโอดีน ดีเอชเอ ลูทีน โคลีน เป็นต้น ตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับแต่ละเขต เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ สารอาหารครบถ้วน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ และผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนได้รับการจัดสรรสิทธิอย่างเป็นธรรม 

 

น.สพ.ณรงค์ เลี้ยงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การแบ่งพื้นที่การจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน งบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในเทอม 1/2562 ที่จะเปิดวันแรกในวันที่ 16 พ.ค. นั้น กรมปศุสัตว์ได้จัดสรรแบ่งตามพื้นที่เขตในการดูแล โดยทั้ง 5 กลุ่ม หลักการให้แต่ละกลุ่มไปพิจารณาพื้นที่ของตนเองมีน้ำนมดิบปริมาณเท่าไร หากไม่เพียงพอ ก็ให้มองเขตใกล้เคียงหรือกลุ่มไหนที่มีน้ำนมดิบเกิน ก็ให้ประสานไปที่กลุ่มข้างเคียงเช่นเดียวกัน

 

โดยหลักให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นประธานในแต่ละคณะให้ประสานกันได้ ส่วนกลางจะออกแค่หลักเกณฑ์อย่างเดียวเท่านั้น อาทิ ผู้ประกอบใดบ้างที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แล้วให้ไปสมัครกับกลุ่ม ๆ นั้น จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณา ว่า ให้มาส่งโรงเรียนโน้นนี่ ไกลไปหรือไม่อย่างไร เพราะถ้าไกลเกินไป เด็กเสี่ยงท้องเสีย ผู้ว่าฯ มีสิทธิ์ที่จะไม่เอาได้ เพราะจะดูเรื่องโลจิสติกส์เป็นหลัก เพราะในอดีตส่วนกลางเป็นผู้จัดทั้งประเทศ

 

ทั้งนี้ยกเว้นเทอม 1/2561 ที่จะเปิดการศึกษาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ไม่ทัน จะใช้ส่วนกลางจัดก่อน แต่ยืนยันว่า เซ็ทซีโร่ทั้งหมด ทั้งปริมาณน้ำนมดิบ นำมารื้อดูใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่ใครได้ 100 ตัน/วัน จะได้แบบเดิม ไม่ใช่แล้ว ในระหว่างนี้ ทางกรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เตรียมความพร้อมสำหรับรอบต่อไป ก็คือ เทอม 2/2561

 

“คัดเลือกผู้ประกอบการโรงนมทั้งหมดว่า มีจำนวนเท่าไรและในแต่ละโรงจะมีการจัดโควต้าน้ำนมดิบจำหน่ายให้แก่นักเรียนเท่าไร ส่วนพื้นที่ไหนจะทราบผลการจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายสิทธิ์จะทราบผลประมาณปลายเดือน เม.ย. แล้วจากนั้นจะไปทำสัญญา แล้วส่งมอบกลางเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนเด็กทั่วประเทศจะต้องได้ดื่มนม ใครที่เข้าร่วมโครงการจะต้องลงนามรับเงื่อนไข ระบบเกษตรพันธสัญญาผูกมัด ใครผิดนัด เบี้ยวรับน้ำนมดิบเกษตรกร ส่งนมไม่ครบ ผิดมาตรฐาน นมบูด เด็กท้องเสีย ทางกรมปศุสัตว์ จะดึงกฎหมายหรือ "พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560" เพื่อจะแก้ปัญหาไซฟ่อนนมโรงเรียน โควต้าลม เมคตัวเลข ที่ผ่านมา คณะกรรมการจับได้หลังจับได้ไม่มีการลงโทษ แต่ต่อไปนี้ ใครทำผิด นอกจากจะมีการลงโทษ จะต้องโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วย"

 

นายปภณภพ เฉลิมกลิ่น ผู้จัดการสหกรณ์โคนมท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนกลุ่ม ACPU (Association of Cooperative Private and University for school Milk) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนทั้งสหกรณ์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมเอกชน และมหาวิทยาลัยกล่าวว่า แนวทางปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่นี้จะทำให้การแจ้งซื้อขายน้ำนมดิบเท็จนั้นทำได้ยากขึ้น ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการหลายรายแจ้งรับซื้อน้ำนมดิบมากกว่าที่รับซื้อจากเกษตรกรจริง โดยมีขาใหญ่ จะมีโควต้าการจัดสรรสิทธิจำหน่ายมาก เป็นการเอาเปรียบและเบียดบังสิทธิของผู้ประกอบการที่แจ้งตามปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อจริง

 

นอกจากนี้การที่แยกคณะกรรมการนมโรงเรียนออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนที่ตัดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้แทนเกษตรกรและผู้แทนผู้ประกอบการออก รวมถึงองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายนมโรงเรียนด้วยนั้นมั่นใจว่า จะทำให้เกณฑ์การจัดสรรสิทธิมีความเป็นธรรมและโปร่งใสยิ่งขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวรายว่าสำหรับ 5 กลุ่มพื้นที่ดูแลรับผิดชอบในการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ (โควต้า) ให้หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดที่มีปริมาณการเลี้ยงโคนมมากที่สุดของแต่ละคณะเป็นประธานและเลขานุการในแต่ละกลุ่ม เช่น จากข้อมูลการเลี้ยงโคนมในปี 2561 ซึ่งมีสถิติเลี้ยงโคนมในทุกจังหวัดจะมีองค์ประกอบของแต่ละกลุ่ม

 

กลุ่ม 1 จะประกอบด้วย จ.อยุธยา นนทบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี และปทุมธานี ในคณะดังกล่าวนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

 

กลุ่ม 2 (เขต 2 และ 3 ) ประกอบด้วย จ.นครนายก ปราจีนบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สมุทรปราการ สระแก้วระยอง ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และสุรินทร์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

 

กลุ่ม 3 (เขต 4) ประกอบด้วย จ.อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย กาฬสินธุ์  เลย นครพนม มหาสารคาม หนองบัวลำภู สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ซึ่งคณะนี้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

 

กลุ่มที่ 4 (เขต 5,6) พื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

 

กลุ่มที่ 5 (เขต 7,8,9 ) ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ราชบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ