ยู.เรก้า เวทีแจ้งเกิดสตาร์ทอัพสาย‘ดีพเทค’ ตอบเทรนด์โลกพลิก

ยู.เรก้า เวทีแจ้งเกิดสตาร์ทอัพสาย‘ดีพเทค’ ตอบเทรนด์โลกพลิก

“ดิจิทัล เวนเจอร์ส” จับมือ 10 มหาวิทยาลัยสานต่อโครงการ ยู.เรก้าปี 2 รับสมัครสตาร์ทอัพเข้ารับการบ่มเพาะพร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดการบ่มเพาะกว่า 1 ล้านบาท หวังเพิ่มโอกาสและช่องทางให้งานวิจัยสามารถก้าวออกมาสู่เชิงพาณิชย์

โกดังเก็บสินค้าที่ต้องใช้ทั้งพื้นที่และแรงงานคนดำเนินการ แต่ในจีนและญี่ปุ่นเปลี่ยนเป็นระบบออโตเมชั่นและปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับคนควบคุมดูแลไม่เกิน 10 คน เช่นเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำในเซี่ยงไฮ้ ที่กลายเป็นสิ่งของที่พิมพ์ขึ้นมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยลดใช้วัสดุ เวลาและแรงงานอีกด้วย ตัวอย่างเทคโนโลยีที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ 


ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ของไทยในปัจจุบันอยู่อันดับที่ 39 ของโลกจาก 63 ประเทศ โดยมี 4 ด้านที่ไทยยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือกัน การสนับสนุนจากภาครัฐ การแบ่งปันองค์ความรู้ และการศึกษาที่ไม่เพียงพอ 


ทั้งนี้ เพื่อเร่งปูทาง ภาคเอกชนและภาคการศึกษาออกสตาร์ทก่อน “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” จึงร่วมกับ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย สานต่อโครงการยู.เรก้า (U.REKA) ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 กิจกรรมการแข่งขันเฟ้นหานักวิจัยและพัฒนาที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อที่จะให้การสนับสนุนจนกระทั่งพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด รวมถึงผลักดันให้ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และสามารถสร้างกิจการสตาร์ทอัพได้


ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี 5 ผลงานวิจัยเข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 1 อาทิ pordeekum.ai จูนใจ แชทบอทผู้ช่วยเหลือด้านอารมณ์สำหรับผู้มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นการนำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์มาผสมผสานกับศาสตร์ทางจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าผ่านทางการพัฒนาระบบ Psychological Emotional Intelligent AI Engine ซึ่งสามารถประเมิน เข้าใจ และช่วยเหลือเรื่องอารมณ์สำหรับภาวะซึมเศร้าผ่านทางการพูดคุย (แชท คอนเวอร์เซชั่น)โครงการ tinyepicbrains เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าสู่โลกออนไลน์ผ่านวิดีโอพร้อมวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อการโฆษณาและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการ QUTE กลุ่มนักวิจัยไทยผู้มีเป้าหมายคือการเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีควอนตัม

อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า เมื่อปี 2561 ดิจิทัล เวนเจอร์ส ริเริ่มโครงการยู.เรก้า รุ่นที่ 1 มีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สมัครเข้าร่วมมากถึง 65 ทีม โดยมี 5 ทีมที่เข้าสู่ระยะวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาผลงาน ซึ่งล้วนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติสำหรับสังคมไทย ได้รับทุนสนับสนุนการบ่มเพาะรวมประมาณ 1 ล้านบาทต่อโครงการ ส่วนปีนี้กำหนดกรอบการพัฒนายังคงเป็นเทคโนโลยีหลัก 6 ประเภท ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์หรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง, บล็อกเชน, คลาวด์และซีเคียวริตี้, บิ๊กดาต้า, AR/VR และควอนตัม คอมพิวติ้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการที่ www.u-reka.co


ดิจิทัล เวนเจอร์ส จึงคาดหวังว่าโครงการยู.เรก้าจะถูกพัฒนาให้เป็นโครงการระดับชาติ ที่สามารถจุดประกายให้นักวิจัยพัฒนา และสตาร์ทอัพดีพเทคทั่วประเทศ รวมพลังสร้างบรรยากาศสังคมแห่งเทคโนโลยีให้เกิดขึ้น และสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัลของประเทศให้ไต่สู่อันดับต้นๆ ของเอเชีย