“อีซี่ไรซ์” สตาร์ทอัพดีพเทค พลิกอุตฯข้าวไทยสู่ "ยั่งยืน"

“อีซี่ไรซ์” สตาร์ทอัพดีพเทค พลิกอุตฯข้าวไทยสู่ "ยั่งยืน"

“อีซี่ ไรซ์” สตาร์ทอัพสายเกษตรผู้พัฒนานวัตกรรม 'เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวอัตโนมัติ' ด้วยเทคโนโลยีดีพเทค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยสู่เกษตรอัจฉริยะตามรอยเนเธอร์แลนด์

2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพในทุกอุตสาหกรรม โดยคาดหวังว่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ เพราะสตาร์ทอัพเป็นโมเดลธุรกิจที่ถูกออกแบบมาให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน ส่วนใหญ่นิยมพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นสายการเงิน ค้าปลีก สุขภาพ ขณะที่สายเกษตร ไม่ค่อยได้รับความสนใจเพราะอัพสเกลยากแม้ว่าอุตสาหกรรมการเกษตรถือเป็นพื้นฐานของประเทศไทย

แต่จากประสบการณ์ ภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง อีซี่ ไรซ์ เทค ที่อยู่ระหว่างศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมสารสนเทศ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากที่ได้รับโจทย์มาจากผู้ส่งออกข้าวรายหนึ่งให้เข้าช่วยแก้ปัญหาคอขวดในอุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งเกิดจากกระบวนการตรวจสอบคุณภาพข้าว ที่ต้องใช้คนทำให้มีโอกาสผิดพลาดหรือ Human Error ส่งผลให้คุณภาพการตรวจวัดคลาดเคลื่อน ใช้เวลาในการตรวจสอบนาน 1-2 ชั่วโมงต่อ1 ตัวอย่างข้าวที่สุ่มมาตรวจคุณภาพข้าว อีกทั้งต้นทุนสูง เนื่องจากต้องจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญขั้นต่ำเดือนละ 2 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งจำนวนคนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราการผลิตของผู้ส่งออก

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ได้ติดต่อเข้ามาให้เข้าไปร่วมโครงการศาลานา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรากฐานของสังคมไทยให้มีความกินอยู่ดีขึ้นด้วยการเปลี่ยน เกษตรกร ให้เป็น นักธุรกิจ ทางการเกษตร ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยน มีอยู่ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือความรู้ในการทำธุรกิจ ปัจจัยที่สองคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรมีเครื่องมือในการทำเกษตรแบบใหม่

หลังจากลงพื้นที่เกษตรกรโรงสีชุมชน ที่มี‘ Pain Points’ หรือปัญหาที่เกษตรกร เผชิญคือ สีข้าวได้แต่ไม่สามารถนำข้าวที่สีไปขายได้ เพราะ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวทำให้ต้องขายข้าวในการราคาคละเกรด บวกกับ ไม่มีความรู้ในการสร้างแบรนด์ดิ้งข้าว และปัญหาสำคัญคือกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทยจำนวน 17 ล้านคน ในจำนวนนี้ 75% มีรายได้ 29,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่ ‘ต่ำ’ กว่าขีดความยากจนของประเทศไทยที่ตั้งไว้30,000 บาทต่อปี จึงกลายเป็น แรงบันดาลใจ” ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าช่วย ‘เพิ่ม’ โปรดักทิวิตี้ในการผลิตและแก้ปัญหาการค้าข้าวที่ไม่เป็นธรรม จากโรงสีขนาดใหญ่ที่เอาเปรียบเกษตรกรทำให้ราคาข้าวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก่อให้เกิดความเสื่อมล้ำในสังคม

จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยี อีซี่ ไรซ์’ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ด้วยการพัฒนาเครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยเทคโนโลยีประมวลผลภาพ (Image Processing)สามารถตรวจสอบข้าวเป็นรายเมล็ดและใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ตัดสินคุณภาพข้าวเพื่อปรับปรุงคุณภาพการตรวจสอบข้าวให้ดีขึ้น

โดยแบ่งออกมาเป็น 2 นวัตกรรม นวัตกรรมแรก จะผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจต้นน้ำคือ กลุ่มเกษตรกรและโรงสีชุมชน เพื่อ ตรวจวัดคุณภาพข้าวที่ผลิตได้ว่ามีคุณภาพเท่าไร ยิ่งไปกว่านั้นจะฟีดแบคข้อมูลเพื่อนำบิ๊กดาต้ามาใช้สร้าง“แพลตฟอร์มแมทชิ่ง”ระหว่างเกษตรกับผู้ซื้อโดยตรงในราคาและคุณภาพที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพอใจ ราคาเครื่องประมาณ 1-1.2 แสนบาท ซึ่งกำลังจะทดสอบต้นแบบปลายเดือนเมษายนนี้ นอกจากจะลดขั้นตอนการทำงานของโรงสีแล้ว เกษตรกรยังจะได้รับข้อมูลคุณภาพข้าวของตน ช่วยป้องกันการโกงและนำข้อมูลคุณภาพข้าวมาปรับปรุงกระบวนการปลูก

ส่วนนวัตกรรมที่สองสำหรับผู้ประกอบการโรงสีข้าวและส่งออก ราคาเครื่องประมาณ4-6 แสนบาทเพื่อช่วยในการตรวจสอบว่าข้าวที่ผลิตได้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาสามารถตรวจวัดได้ 5% ตามมาตรฐาน โดยใช้เวลา 10 นาทีจากเดิมใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง เมื่อเปรียบต้นทุนการใช้เครื่องกับการใช้คนในการตรวจสอบในโรงสีขนาด อัตราการผลิต 40ตันต่อหนึ่งวันขึ้นไป พบว่า จะสามารถลดต้นทุนได้ 50% จากเดิมที่ต้องจ่ายปีละ 3 ล้านบาทเพื่อจ้างคนเข้ามาตรวจสอบจะลดลงเหลือ 1.6ล้านบาท

ในอนาคตจะสามารถนำข้อมูลคุณภาพข้าวและลักษณะการผลิตจากแต่ละโรงสีมาพัฒนาเป็น มาร์เก็ตเพลส’ ให้กับผู้ที่บรรจุข้าวถุงและผู้ส่งออกข้าวสามารถเลือกซื้อตามคุณสมบัติและราคาที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงสี ทั้งยังเพิ่มรายได้และขั้นตอนการตรวจสอบข้าวที่โปร่งใส่ให้กับเกษตรกร

“ที่ผ่านมาเราเริ่มต้นจากการเข้าไปประกวดสตาร์ทอัพในเวทีต่างๆทั้งในมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)จากนั้นได้ทุนจากธนาคารออมสิน ทุนจากดีป้าไปดูงานสิงคโปร์ ล่าสุดได้ทุนสนับสนุนจากโครงการ ยูเรก้า ของดิจิทัล เวนเจอร์ส และ ได้คอนเนชั่นจาก สถานทูตเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเนเธอร์แลนด์ เป็นต้นแบบของประเทศที่ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ มาเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรจนเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดพื้นที่เพาะปลูกมากว่า 200 เท่า จึงได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อต้นปีนี้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาเพิ่มผลผลิตข้าวไทย ”

เป้าหมายของ อีซี่ ไรซ์ ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย ด้วยเทคโนโลยี ดีพเทคเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเพื่อวางแผนการผลิตให้ถูกต้องแม่นยำส่งผลให้อุตสาหกรรมข้าวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปีแรกจะนำเสนอเทคโนโลยีในประเทศและสามารถคืนทุนด้วยรายได้ 120ล้านบาท ปีที่สองจะขยายไปในประเทศ CLMV ได้แก่ คือประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เพราะลักษณะข้าวในประเทศคล้ายกัน สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้งานง่าย และปีที่สามจะขยายตลาดไปสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยผ่านโลคัลพาร์สเนอร์ และหลังจาก5 ปีมีแผนเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะมีรายได้ 3,000 ล้านบาท

การทำธุรกิจต้องใช้องค์ความรู้หลากหลายไม่ใช่แค่เทคโนโลยีอย่างเดียวจะประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีความรู้ทางกฏหมาย ธุรกิจ และเงินทุนเข้ามาช่วยสนับสนุน " ภูวินทร์ ทิ้งท้าย

-----------------------------

จุดเด่นของดีพเทคโนโลยี

-เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง

-ลอกเลียนแบบยาก

-คู่แข่งในตลาดน้อย

-เติบโตแบบก้าวกระโดด