ธุรกิจฝาก“ขั้วรัฐบาลใหม่” สานต่อนโยบาย-ลดขัดแย้ง

ธุรกิจฝาก“ขั้วรัฐบาลใหม่” สานต่อนโยบาย-ลดขัดแย้ง

ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เดินสู่การ “จับขั้วพรรคการเมือง” เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในมุมมองของ“ภาคธุรกิจหลายราย" เห็นว่า ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อยากเห็นการเมืองมีเสถียรภาพ สานต่อนโยบาย ลดขัดแย้ง

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกหรือเอ็มพีซีของอาร์เอส เป็นธุรกิจที่วิ่งเข้าหาลูกค้า สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อการจับจ่ายอาจมีผลบ้างเล็กน้อย หากบ้านเมืองเดินหน้า จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศได้และพร้อมจะจับจ่ายใช้สอย

ทั้งนี้ ประเด็นที่นักธุรกิจให้ความสนใจในเรื่องการเมืองขณะนี้ คือไม่ว่าพรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาล หรือใครเป็นผู้นำประเทศ สิ่งที่ต้องการเห็น คือการสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนต่อเนื่อง และไม่ต้องการให้ทุกอย่างกลับสู่จุดเริ่มต้น หรือนับ 1 ใหม่

ด้านข้อเรียกร้องเอกชนต่อรัฐบาลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน หรือแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าเข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำอะไรบ้าง แต่หัวใจของทำธุรกิจต้องการให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าพร้อมกันทุกฝ่าย

“ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ นักธุรกิจต้องการเห็นเสถียรภาพทางด้านการเมือง ขอให้มองไปข้างหน้า เดินหน้า สานต่อนโยบายและโครงการต่างๆ ไม่ล้มสิ่งที่ทำในอดีต และเกิดความขัดแย้ง”

บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ผลการนับคะแนนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเพื่อไทย(พท.) ใกล้เคียงสูสีกันมาก ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลนำไปสู่รัฐบาลผสมส่วนตัวมองว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากการแข่งขันทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ

“การเมืองคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะนักธุรกิจเจอสถานการณ์มาหมดแล้ว ก็หวังว่าการเมืองจะเสถียรภาพ ประเทศน่าจะมีความชัดเจนในการเดินหน้ามากขึ้น ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นผู้นำการเมืองไทยก็เป็นอย่างนี้ คือไม่เคยนิ่งสักที ถือเป็นเรื่องธรรมดา เราอยู่เมืองไทยมาน ไม่ต้องกังวลอะไรมาก" นายบุญเกียรติ ย้ำ 

ธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทามอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตโดรนไฮบริดเพื่อการเกษตรที่ใช้น้ำมันเบนซิน กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจกังวลกับรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริการประเทศ หลังจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาคะแนนสูสี ส่งผลให้การตั้งรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม มีผลต่อเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ย่อมมีผลต่อภาคธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสานต่อนโยบายเดิม หรือการผลักดันนโยบายใหม่ออกมาว่าจะสามารถทำได้ยาวนานขนาดไหน 

ด้าน ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) มองว่า ไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมดนตรีและธุรกิจเพลง เพราะไม่ว่ายุคไหน อุตสาหกรรมดนตรีอยู่กับประชาชน ไม่ว่าจะสุขหรือว่าจะทุกข์ และเป็นเรื่องจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่มีผลต่อกำไรหรือขาดทุนของบริษัทเพราะธุรกิจเพลงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคมากกว่า

แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุนมิวสิค เฟสติวัลในประเทศเหมือนกับต่างประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อาทิ เทศกาลทูมอร์โรว์แลนด์ ( Tomorrowland)ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ ที่เป็น 1 ในเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ในประเทศเบลเยี่ยม หรืองานเทศกาลดนตรีโคเชลล่า( Coachella) ที่ดึงดูดผู้คนนับแสนจากทั่วโลก เพราะรวบรวมศิลปินทุกแนวเพลงจากหลากประเทศ มาขึ้นคอนเสิร์ตเป็นประจำทุกปี ปีละ2 สัปดาห์ ในแคลิฟอร์เนีย หรือการจัดงาน แกลสตันเบอรี่ (Glastonbury) ที่ประเทศอังกฤษ