บุคคลแห่งปี ฮีโร่ 2561

บุคคลแห่งปี ฮีโร่ 2561

จุดประกายชวนทบทวนความจำ 4 บุคคลแห่งปี 2561 ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และพิสูจน์ถึงความสามารถ ความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร : ฮีโร่จากถ้ำหลวง
“ข้าราชการ”ที่ประชาชนต้องการ

20180906195259099

รอบปี 2561 ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวใหญ่แห่งปีที่ทั้งโลกจับตามอง และฉายสปอตไลต์มายังประเทศไทย แน่นอนว่า จะเป็นอะไรไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ภารกิจค้นหาและช่วยเหลือ 13 ชีวิต “ทีมหมูป่าอคาเดมี่” ผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งลุ้นกันแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน และกลายเป็นวาระระดับโลก

แม้กระทั่งนิตยสารไทม์ยังเลือกให้ “ทีมถ้ำหลวง” ติด 1 ใน 10 บุคคลแห่งปี ( Person of the Year 2017 )ที่เปิดให้สาธารณะได้ร่วมโหวตกันเลยทีเดียว

"ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ
เอาเท้าก่ายหน้าผาก
เพราะเราจะต้องรบกับน้ำ
รบกับเวลา"

แม้จะเป็นภารกิจความร่วมมือระดับนานาชาติ ที่รวมตัวท็อปจากหลากหลายวงการมาไว้ที่งานนี้ แต่เมื่อพูดถึง “คีย์แมน” ผู้เป็นเซ็นเตอร์ของภารกิจ เราต้องยกให้กับ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระเยา ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำที่ “เอาอยู่” ทั้งงานหน้าบ้าน หลังบ้าน การวางแผนและบริหารจัดการทีมค้นหาฯ ตลอดจนจัดการ รวมถึงจัดระเบียบ “สื่อมวลชน” ได้ชนิดอยู่หมัด

‘จุดประกาย’ ขอถอดความส่วนหนึ่งของปาฐกถาที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ไปพูดให้น้องๆนักศึกษาใหม่ ม.แม่ฟ้าหลวงในหัวข้อ “ภาวะผู้นำ” มาฝากกัน..

“ในวันแรกไม่ได้คิดว่า จะเป็นงานระดับโลก คิดแต่เป็นเด็กหลงถ้ำ จะยากอะไรกับการค้นหาเด็ก 12 คน (ยอดที่ได้รับแจ้งในตอนนั้น) ในถ้ำที่เดินเข้าไปได้ปรากฏว่า ส่งคนเข้าไปตั้งแต่ตีหนึ่ง ออกมาตีสี่กว่า ทุกคนบอกว่า มันซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะน้ำท่วมตอนนั้น

ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ เอาเท้าก่ายหน้าผาก เพราะเราจะต้องรบกับน้ำ รบกับเวลา เมื่อเราไม่รู้เลยว่า น้องๆ อยู่ตรงไหน มีออกซิเจนหรือไม่ มีที่ยืนหรือเปล่า” ผู้ว่าฯ เล่าถึงปฏิบัติการในคืนแรกหลังจากทราบว่า มีผู้ติดอยู่ในถ้ำ ก็ราวๆ 5 ทุ่มของวันเกิดเหตุ

รุ่งขึ้นมีการระดมทีมที่รวบรวมได้จากในจังหวัด พร้อมปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ สกัดออกมาได้เป็นทั้งหมด 4 แผน ตั้งแต่การสูบน้ำและพาเด็กเดินออกมา การหาทางเข้าอื่นๆ รวมถึงพยายามขุดเปิดทางอื่นเพื่อระบายน้ำออกให้ได้มากที่สุด และแผนที่สี่ คือกรณีที่สามารถจัดหาเครื่องมือสแกนค้นหาเด็กๆ ได้ ก็จะทำการขุดเจาะเข้าไปช่วยเหลือ

“ผมนึกถึงประโยคที่นักดำน้ำออสเตรเลียพูดประโยคหนึ่งว่า ‘เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาดำน้ำมาทั้งชีวิตเพื่ออะไร แต่เขารู้เพียงว่า ที่เขาดำน้ำมาทั้งหมดนั้นก็เพื่องานนี้’ ผมก็ขอลอกประโยคเขามาเหมือนกัน เพราะความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัว ไม่รู้ว่า เรียนมาเพื่ออะไร แต่รู้ว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2561 ความรู้ทุกประเภทที่อยู่ในตัว รวมถึงความรู้ที่อยู่รอบตัวของคนอื่น ต้องมาประมวลผลและแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยชีวิตทุกคนให้เร็วที่สุด”

และอย่างที่ทุกคนได้เห็น คือ นี่คืองานที่ระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคนและเครื่องไม้เครื่องมือมาอย่างมหาศาล

“เรารวบรวมคนอย่างที่ผมเรียกว่า Avenger ซึ่งเป็นคนเก่งๆ จากทั่วโลกมาที่นี่ แล้วก็ต้องมาให้ทันเวลาด้วยอุปกรณ์บางชิ้น เครื่องบินบินตรงมาลงที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงเลยแล้วส่งด่วน มีรถตำรวจนำมาที่หน้างานทันที”

นอกจาก ปริมาณน้ำ และเวลา ที่เป็นอุปสรรคแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญซึ่งอาจส่งผลต่อแผนการปฏิบัติงานได้ ก็คือ “คำพูดคน” สารพัดความเห็นจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่หน้างาน ซึ่งผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เผยว่า ถ้าไม่หนักแน่นในแผนการแล้ว ก็อาจเบี่ยงเบนไปได้

“เราเชื่อในแผนที่มี เพราะเราวางแผนจากข้อมูลที่ดีที่สุด” เขาย้ำ

และยืนยันว่า แผนปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ นั่งเทียนขึ้นมา เพราะนี่คือปฏิบัติการที่มีความเป็นตายของ 13 ชีวิตเป็นเดิมพัน 

แม้จะถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ แต่เขาขอยกชัยชนะทั้งหมดนี้ให้คนนับหมื่นที่ปฏิบัติงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังโดยบอกว่า.. ทั้งหมด คือ พระเอกตัวจริง

“ผมโชคดีที่ถูกมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลการต่อจิ๊กซอว์หมื่นกว่าตัว แล้วผมถือจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายไว้ในมือเท่านั้นเอง คนนับหมื่นเขาต่อของเขามาไว้เรียบร้อย ผมแค่วางตัวสุดท้ายลงไป ภาพจึงออกมาสวยงาม” 

 

ปนิดา ยศปัญญา : นักศึกษาฝึกงาน
ผู้รับบทสายลับ จับทุจริต

IMG_6150

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ แบม-ปนิดา ยศปัญญา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเข้าฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

แค่วันแรกของการฝึกงาน เธอก็พบความไม่ชอบมาพากล และต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารราชการ กรอกข้อมูลเท็จ แถมยังต้องลงลายเซ็นรับเงินแทนผู้อื่น ในการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น รวมแล้วเฉียดๆ 7 ล้านบาท

ขณะที่นักศึกษาคนอื่นเลือกที่จะเงียบ และตามน้ำ แต่สำหรับ ปนิดา เธอตัดสินใจรับบท “สายลับจำเป็น” เก็บหลักฐานทุกเม็ดและหอบทุกอย่างไปร้องเรียนทั้งที่ ป.ป.ช. และเลขาธิการ คสช.

"อยากเห็นรัฐบาลลงมาช่วยเหลือคนยากไร้จริงๆ
เข้าถึงคนพวกนี้อย่างจริงจัง
ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้"

เมื่อเหตุการณ์บานปลาย เธอถูกคุกคาม ตามหาถึงหน้าบ้าน​ จนสุดท้ายต้องยื่นเรื่องขอความคุ้มครอง

ตอนนั้นเธอบอกกับ ‘จุดประกาย’ ว่า “หนูก็แค่อยากจะมาฝึกงานเท่านั้น”

แบมยอมรับว่า จากจุดเริ่มของยื่นเรื่องร้องเรียนก็เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง เธอไม่เคยคิดว่า จะกลายเป็นการจุดกระแสจนเกิดการตรวจสอบทั้งประเทศ และพบความผิดในอีกหลายๆ พื้นที่ตามมา ทั้งนี้ จากผลสรุปของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรณีการใช้จ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่พึ่ง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2561) พบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 67 จังหวัด รวมวงเงิน 129,507,000 บาท

“ไม่ได้คิดเลยว่า จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากขนาดนี้ เราคิดแค่ว่า ร้องเรียนตามสิทธิที่เรามี ไม่คิดว่า จะไปทั่วประเทศ” เธอเผยกับจุดประกายเมื่อครั้งเกิดเรื่องใหม่ๆ

ปัจจุบันบัณฑิตใหม่ไฟแรงคนนี้ ได้รายงานตัวเข้าดำรงตำแหน่ง นักวิชาการยุติธรรมปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 4 จ.ขอนแก่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เธอได้เอ่ยกับจุดประกายถึงความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นนับจากนี้ต่อไปว่า

“อยากเห็นรัฐบาลลงมาช่วยเหลือคนยากไร้จริงๆ เราไม่ได้หวังอะไร หวังแค่ให้เขาเข้าถึงคนพวกนี้อย่างจริงจัง ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้”

 

เอรียา จุฑานุกาล : โปรกอล์ฟสาวไทย 
มือหนึ่งของโลก 

20181119050958563

ถือเป็นนักกีฬาขวัญใจชาวไทยที่มักเรียกรอยยิ้มและความภาคภูมิใจให้แฟนๆ ได้เสมอ สำหรับ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล วัย 23 ปี ที่ทำผลงานโดดเด่นสุดๆ ในปี 2561 ที่รุ่งเอารุ่งเอา โดยสามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้เล่นคนแรกที่กวาดรางวัลหลักของ LPGA ครบทุกรายการในปีเดียว 

สรุปรวมปีนี้ทั้งปี เธอสามารถทำเงินรางวัลสูงสุด 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90 ล้านบาท บวกกับโบนัสอีก 1 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 33 ล้านบาท จากการทำคะแนนสะสม CME Globe

จากเป้าหมายที่เคยฝันแค่อยากจะ Qualify LPGA ให้ได้สำเร็จ และคงจะดีถ้าได้ติด Top 10 ของโลก แต่วันนี้เธอมาไกลกว่าที่เคยฝันไว้มาก เพราะใน 6 ปีของการเทิร์นโปร เธอสามารถคว้าชัยชนะใน LPGA Tour มาแล้ว 10 รายการ เป็นรายการเมเจอร์ 2 รายการ (บริติช โอเพ่น และ ยูเอส โอเพ่น) ครองตำแหน่งมือหนึ่งของโลกในปัจจุบัน และคว้ารางวัลนักกอล์ฟหญิงยอดเยี่ยมเป็นสมัยที่ 2 ในรอบ 3 ฤดูกาล

แน่นอนว่า ชัยชนะมักหอมหวาน แต่ที่ผ่านมา ชีวิตของครอบครัวจุฑานุกาลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาย อย่างที่หลายๆ คนทราบว่า คุณพ่อของเธอถึงกับขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มี ได้เงินมาร่วม 20 ล้านบาท เพื่อให้สองพี่น้อง โมรียา และ เอรียา เดินตามฝันให้สุดทาง 

“บอกกับตัวเองว่า
ถ้ายังเดินหน้าต่อไป
ก็คงจะชนะได้ในสักวัน”

บวกกับความทุ่มเทของทั้งคู่ที่ฝึกซ้อมจริงจังตั้งแต่อายุ 8 ขวบ อยู่ในห้องเรียนแค่ครึ่งวันเช้า หลังจากนั้นจนถึง 3 ทุ่ม ถ้าไม่ซ้อมกอล์ฟก็ต้องว่ายน้ำไม่มีวันหยุด ต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี 

“มันคืออาชีพ คือสิ่งที่ฝัน ก็พร้อมจะทำมันด้วยความรัก” นักกอล์ฟสาวมือหนึ่งของโลกเอ่ย และเล่าถึงเส้นทางนักกอล์ฟอาชีพของตัวเองว่า ที่คิดก็แค่อยากจะดูแลพ่อแม่ให้ได้ก็เท่านั้น

จากเด็กหญิงเมที่มีพ่อผู้สอนให้ตีกอล์ฟ จึงมุ่งมั่นเพื่อจะก้าวมาสู่ “โปรเม” ที่สามารถทำรายได้เลี้ยงทุกคนในครอบครัวได้

แน่นอนว่า ความฝันไม่มีอะไรง่าย แต่เธอคนนี้ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า ตราบใดที่มีความพยายาม ฝันจะเป็นจริงได้ เพราะจากที่เคยตกรอบติดต่อกัน 10 รายการรวดในปี 2015 

ท้อเสียจนตั้งคำถามกับตัวเองว่า หรือจะเลิกเล่นดี?

ถ้าวันนั้นเธอตัดสินใจถอย เราก็คงไม่ได้ร่วมยินดีกับเอรียาในวันนี้ 

“บอกกับตัวเองว่า ถ้ายังเดินหน้าต่อไป ก็คงจะชนะได้ในสักวัน”

แล้วฝันก็เป็นจริงในปี 2016 กับแชมป์แรกของเธอในรายการ Yokohama Tire LPGA Classic และมีแชมป์ที่สอง และที่สาม ตามมาติดๆ คือ Kingsmill Championship และ LPGA Volvik Championship โดยปิดปี 2016 ด้วยตำแหน่ง Player of the year และอันดับโลกเลื่อนขึ้นมาเป็นที่ 6

“กอล์ฟเป็นสิ่งที่เมรัก และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่น ได้สัมผัส” เธอบอกแบบนั้น

“เล่นกอล์ฟตอนเด็กๆ มันไม่มีแรงกดดันอะไร จับไม้ตีไป ไม่ต้องคิดอะไรมาก แล้วเมถึงได้มาเริ่มจริงจังในช่วงเริ่มแข่งขันตอน 8-10 ขวบ แต่สิ่งสำคัญที่เมคิดว่ามันไม่แตกต่างกันเลย คือ ความสนุก เมสนุกทุกครั้งที่ได้เล่นกอล์ฟ”

แต่อย่างที่สำนวนว่าไว้ ยิ่งสูงยิ่งหนาว ยิ่งประสบความสำเร็จความกดดันก็ยิ่งถาโถม สำหรับเธอแล้ว ก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยเธอยอมรับว่าเรื่องกดดัน มันก็ต้องมีบ้าง แต่ถ้าได้ลงสนามแล้ว เธอจะโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างมาก จนกระทั่งบางครั้งสกอร์คู่แข่งอยู่ที่เท่าไหร่ก็อาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำ!

“เมไม่ค่อยดูสกอร์คนอื่นค่ะ จะโฟกัสไปในสิ่งที่ตัวเมเองควบคุมได้ คือการตีลูกออกไปให้ได้ดีที่สุด และมีความสุขในการเล่นเสมอ”

นอกจากนี้ เธอได้เผยถึงวิธีการควบคุมสมาธิให้อยู่กับเกมว่า 

“เวลาเล่นกอล์ฟ เวลาตี เมจะบอกกับตัวเองว่า I love this shot. คือหลังจากที่เลือกแล้วว่าจะเล่นช็อตไหนก็จะบอกตัวเองว่าเราชอบช็อตนี้.. เราต้องทำได้แน่”

 

วิเชียร ชิณวงษ์ : ผู้พิทักษ์
แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

20180209141353468

จากคดีดัง เมื่อนักธุรกิจใหญ่ เปรมชัย กรรณสูต ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมพร้อมซากของสัตว์ป่าหายาก อาทิ เสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จนถูกสังคมจับตามองและแสดงพลังเพื่อกดดันให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างโปร่งใส

สิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนและได้รับความสนใจมาก นั่นก็คือ ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ อย่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นำโดย  วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ผู้หาญกล้าท้าอำนาจเงินด้วยการจับกุมคนบิ๊กเนมระดับเจ้าสัว โดยกระแสสังคมได้ขยายไปถึงความสนใจในชีวิตความเป็นผู้ของผู้พิทักษ์ป่าที่ไม่ได้กินอยู่อย่างสุขสบาย ขณะที่เนื้องานก็เสี่ยงภัย แต่รายได้กลับน้อยนิด

“ผมทำงานเพื่อปกป้องป่า ผมแค่ทำตามหน้าที่รับผิดชอบตรงไปตรงมา โดยชอบธรรม ก็มองว่าไม่มีอะไรต้องกังวล วันข้างหน้าจะมีอะไรมั้ยก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะการรักษาทรัพยากรป่าไม้ เป็นเรื่องที่ต้องกระทบผลประโยชน์ของใครบางคน ถ้าเจ้าหน้าที่ท้อถอย ถอดใจทรัพยากรป่าไม้คงจะเหลืออยู่ไม่เท่าไหร่ ในส่วนของผมและเจ้าหน้าที่ทุกนายก็พร้อมเสมอที่จะทำหน้าที่นี้อย่างเต็มความสามารถ” เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในช่วงที่เป็นข่าววันแรกๆ 

"ถ้าเจ้าหน้าที่ท้อถอย ถอดใจ
ทรัพยากรป่าไม้คงจะเหลืออยู่ไม่เท่าไหร่"

โดยล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติความกล้าหาญ, การสร้างสรรค์นวัตกรรม และความมีจริยธรรม ให้แก่หัวหน้าฯ วิเชียร ซึ่งเป็นรางวัลยกย่องพิเศษ (Special Commendation) จากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล จากการนำกำลังบุกจับกุมเปรมชัย กรรณสูต กับพวกที่เข้าไปล่าเสือดำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561

เจ้าตัวได้เอ่ยสั้นๆ เกี่ยวกับรางวัลที่ได้รับนี้ โดยยกให้เป็นรางวัลของเจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่นเรศวรทุก ๆ คน และแม้จะกลายเป็นคนมีชื่อเสียง แถมถูกยกย่องในฐานะฮีโร่ผู้พิทักษ์ป่าไทย แต่เขายังคงทำงานและใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง 

จากปฏิบัติการเข้าจับกุมครั้งนั้น ก็ได้ส่งผลให้สังคมเกิดแรงตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม การให้ความสนใจในสถานการณ์ความเสี่ยงของเสือดำ หรือ เสือดาว รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ซึ่งยังคงถูกล่าโดยมนุษย์ ทั้งยังส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ตระเวนป่า ซึ่งได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ทั้งการสนุบสนุนด้านเสบียง อุปกรณ์ เครื่องใช้จากทั้งภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญ คือ ได้มีการปรับเงินเดือนพนักงานลาดตระเวนจาก 7,500 บาท เป็น 9,000 บาท อีกด้วย

นอกจากนี้ ล่าสุด หัวหน้าฯ วิเชียร ยังได้รับของขวัญที่สำคัญที่สุด เมื่อภรรยาของหัวหน้าฯ วิเชียร ได้คลอดบุตรชาย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา แถมยังเป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติอีกด้วย!