แบรนด์แห่โยกงบสู่ออนไลน์ ดันโฆษณาดิจิทัล 8 ปีโตเพิ่ม 6 เท่า

แบรนด์แห่โยกงบสู่ออนไลน์ ดันโฆษณาดิจิทัล 8 ปีโตเพิ่ม 6 เท่า

คงไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณาบนสื่อ “ดิจิทัล” เพราะสื่อดังกล่าวกลายเป็น New Normal หรือสิ่งปกติในวงการสื่อไปแล้ว

เมื่อผู้บริโภครุ่นใหม่ ใช้สื่อดังกล่าวเป็นกิจวัตร ส่วนคนรุ่นเก่าก็เริ่มเรียนรู้และใช้งานเสพสื่อดิจิทัลมากขึ้น

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT และกันตาร์ ประเทศไทย รายงานการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลปี 2561 ปิดตัวเลขที่ 16,928 ล้านบาท เติบโต 36% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมจะเติบโต 21% โดยการเติบโตยังติดต่อกันยาวนาน 8 ปีต่อเนื่อง

ส่วนสาเหตุที่โฆษณาบนดิจิทัลโตกว่าคาดการณ์ในปีก่อน พัชรี เพิ่มวงษ์อัศวะ กรรมการ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) บอกว่า ตัวแปรที่มีผลต่อการใช้เม็ดเงิน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคใช้สื่อดิจิทัลกันมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

“นักการตลาด เอเยนซี่ แบรนด์สินค้าปรับตัวโยกงบมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ทำการตลาดผสมผสานระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ ขณะที่การใช้เงินบนสื่อดิจิทัล ยังวัดผลความคุ้มค่าในการใช้จ่ายได้มากขึ้นด้วย”

ขณะที่แบรนด์ครองแชมป์ใช้จ่ายเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมากสุด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์มูลค่า 2,361 ล้านบาท การสื่อสาร 1,925 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) 1,454 ล้านบาท เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮล์ 1,148 ล้านบาท และธุรกิจธนาคาร 1,080 ล้านบาท 

ที่น่าสนใจคือกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยับมาเป็นอันดับ 4 แซงแบงก์ในการเทเงินซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัล เนื่องจากมีการออกสินค้าใหม่กันคึกคักรับฤดูกาลขายและเทศกาลต่างๆ มีการปรับแพ็คเกจจิ้งใหม่ๆ รวมถึงค่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หันมาบุกตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจค้าปลีกที่ทุ่มทุนซื้อโฆษณาดิจิทัลเพิ่มเป็น เท่าตัว

ส่วนผลิตภัณฑ์นม(Dairy)กลับใช้จ่ายลดลง เพราะสินค้ากลุ่มนี้หันไปทำ Trade Promotion และกิจกรรม ณ จุดขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายแทน

ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)กล่าวว่า แพลตฟอร์มที่โกยเงินโฆษณาดิจิทัลยังเป็นเฟสบุ๊ค 4,941 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29% ตามด้วยยูทูป 2,931 ล้านบาท สัดส่วน 17% การค้นหา(Search) 1,651 ล้านบาท สัดส่วน 10% ครีเอทีฟ 1,580 ล้านบาท และโซเชียล เช่น อินฟลูเอนเซอร์ Tiktokฯ สัดส่วน 9% เท่ากัน เหตุผลที่เฟสบุ๊คยังครองแชมป์แพลตฟอร์มทำเงิน เพราะผู้บริโภคใช้งานมากสุด

ส่วนแนวโน้มปี 2562 เฟสบุ๊ค ยูทูปยังคงมีอิทธิพลดูดเงินโฆษณา โดยคาดการณ์เฟสบุ๊คจะครองเม็ดเงินราว 5,558 ล้านบาท สัดส่วน 28% ยูทูป 3,364 ล้านบาท สัดส่สน 17% ค้นหา 2,010 ล้านบาท สัดส่วน 10% ครีเอทีฟ 1,829 ล้านบาท สัดส่วน 9% และโซเชียล 1,580 ล้านบาท สัดส่วน 8%

ปีนี้แพลตฟอร์มที่มาแรงมากขึ้น คือการค้นหา โดยสินค้าที่ต้องให้ข้อมูลการรีวิว สร้างความน่าเชื่อถือ เช่น อสังหาฯ รถยนต์ที่ออกรุ่นใหม่จะโฆษณามากขึ้น ส่วนทวิตเตอร์โตเป็นเงาตามตัวของผู้ใช้งานมากขึ้น 12-13 ล้านคน และครีเอทีฟ เพราะแบรนด์ให้คามสำคัญในการสร้างสรรค์คอนเทนท์ให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มและผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์มากขึ้น ทำให้เริ่มหมดยุคของการทำคอนเทนท์เดียวเสิร์ฟทุกแพลตฟอร์ม หรือ One size fits all แล้ว รวมถึงไลน์ เพราะมีหลายเซอร์วิสที่ให้บริการแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นไลน์แมน ไทม์ไลน์ ซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค และไลน์ทีวี เป็นต้น

ส่วนแนวโน้มเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2562 คาดว่ามีมูลค่า 19,692 ล้านบาท เติบโต 16% โดยอุตสาหกรรมที่จะเทงบมากสุดยังเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ ยานยนต์ 2,783 ล้านบาท การสื่อสาร 2,115 ล้านบาท สกินแคร์ 1,753 ล้านบาท ธุรกิจธนาคาร 1,396 ล้านบาท และ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,239 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มค้าปลีกคาดว่าจะใช้จ่ายเงินโตสูง 1,029 ล้านบาท 47% และธนาคาร 1,396 ล้านบาท โต 29%