สตาร์ทอัพดีพเทค แฟลกชิพใหม่วิทย์จุฬาฯ

สตาร์ทอัพดีพเทค แฟลกชิพใหม่วิทย์จุฬาฯ

คณะวิทย์ จุฬาฯ ปรับภาพลักษณ์นักวิทยาศาสตร์ในอดีต จากทำวิจัยในแล็บสี่เหลี่ยมในหน่วยวิจัยให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านกลไกปั้น “สตาร์ทอัพดีพเทค” ผนึกกำลังร่วมกับหลักสูตรซียูทิพของบัณฑิตวิทยาลัยและบริษัทวิจัยจากสหรัฐพัฒนาหลักสูตร

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับภาพลักษณ์นักวิทยาศาสตร์ในอดีต จากทำวิจัยในแล็บสี่เหลี่ยมในหน่วยวิจัยให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านกลไกปั้น “สตาร์ทอัพดีพเทค” ผนึกกำลังร่วมกับหลักสูตรซียูทิพของบัณฑิตวิทยาลัยและบริษัทวิจัยจากสหรัฐพัฒนาหลักสูตรโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างความสำเร็จ “แกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป” จัดตั้งโดยนิสิตปริญญาเอกและโทต่อยอดผลงานวิจัยอนุภาคนาโนทองคำในแล็บสู่ตลาดเวชสำอางโลก อาศัยเวทีประกวดทั้งในไทยและต่างประเทศสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ส่วนรางวัลที่ได้รับช่วยสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ไทย

ในแต่ละปีการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์จะมีผลงานวิจัยจากนิสิตในทุกระดับชั้นรวมถึงคณาจารย์จาก 14 ภาควิชา 200-300 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่มีศักยภาพสูงและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก ถูกนำไปต่อยอดเป็นต้นแบบนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในเวทีประกวดทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ หรือถูกนำไปจดสิทธิบัตร

“ขณะที่มีผลงานไม่เกิน 10% ที่นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ขณะที่อัตราการอยู่รอดของสตาร์ทอัพดีพเทคที่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงมีไม่เกิน 1% ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับเทรนด์โลก เกิดจากความไม่เข้าใจมุมมองเชิงการตลาด ทำให้ไม่สามารถผลักผลงานที่มีอยู่แล้วออกสู่เชิงพาณิชย์ได้มากอย่างที่คิด” ศ.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าว

กระแสสตาร์ทอัพโดยเฉพาะกลุ่มดีพเทคที่เกิดเป็นเทรนด์โลกอยู่ตอนนี้ จะเป็นโอกาสของนิสิตที่จะได้นำผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ศึกษาและพัฒนาขึ้นในระหว่างการเรียนไปพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจ หรือก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพ

กลไกการผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพดีพเทคของคณะวิทย์ฯ เริ่มจากการปรับหลักสูตรให้เกิดการเรียนข้ามศาสตร์มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจตลาด มีความรู้ทางด้านธุรกิจเบื้องต้น โดยร่วมมือกับหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย ที่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงนิสิตในคณะวิทย์ฯ ในการพัฒนางานวิจัยเพื่อต่อยอดในธุรกิจ ทั้งยังร่วมกับบริษัทวิจัยจากสหรัฐ เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านสตาร์ทอัพดีพเทค โดยเตรียมจะเปิดสอนได้ในช่วงปลายปีการศึกษาที่จะถึงนี้ หรือช่วงต้นปีการศึกษาต่อจากนั้น

“ขณะเดียวกัน เรามองว่า เวทีประกวดนวัตกรรมก็เป็นพื้นที่นำเสนอผลงานไปในวงกว้าง สร้างการรับรู้ที่ดีก่อนที่จะต่อยอดออกไปสู่เชิงพาณิชย์ รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้งานวิจัยไทยสามารถไปประกวดบนเวทีโลก นอกจากพิสูจน์ศักยภาพนักวิจัยไทย ยังเปิดโลกให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้นในระดับโลกทั้งในเชิงการวิจัยและพัฒนาและการตลาด” ศ.พลกฤษณ์ กล่าว

บริษัท แกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป จำกัด ตัวอย่างความสำเร็จของรูปแบบการพัฒนางานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง โดยนิสิตปริญญาเอก 3 คน และปริญญาโท 1 คน ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับอนุภาคนาโนทองคำ ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติและระดับนานาชาติ ถูกนำไปต่อยอดไปใช้ในอุตสาหกรรมเวชสำอางในที่สุด

ศักดิ์ชัย หลักสี กรรมการผู้จัดการ แกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาอนุภาคนาโนทองคำให้มีขนาดการกระจายตัวแบบเดียวกันที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารออกฤทธิ์ได้ดีมากขึ้นด้วยวิธีการที่ปลอดภัย และอนุภาคนาโนทองคำจากระบบนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบ universal pocket ที่เหมาะสำหรับนำส่งสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมทุกชนิด

งานวิจัยพื้นฐานนี้กลายมาเป็นต้นแบบเวชสำอางที่ประยุกต์ใช้อนุภาคนาโนทองคำ โดยนำ 2 องค์ประกอบสำคัญคือ สารออกฤทธิ์ในด้านต่างๆและอนุภาคนาโนทองคำ ซึ่งเป็นตัวนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังจะทำให้สารสำคัญต่างๆ ซึมเข้าสู่ผิวได้ลึกและง่ายขึ้น เห็นผลเร็วมากขึ้น

สำหรับรายได้ของแกรนด์โกลด์ฯ มาจาก 3 ส่วน คือ จำหน่ายอนุภาคนาโนทองคำให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยาและเวชสำอาง, รับจ้างพัฒนาสูตรและผลิตครีมให้กับเอกชนที่ต้องการทำแบรนด์ของตนเอง และผลิตภัณฑ์เวชสำอางของแบรนด์เอง ภายในปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท และเตรียมพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตเวชสำอาง 10 เท่าเพื่อวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ในขณะเดียวกันอนุภาคนาโนทองคำก็เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการต่างชาติที่ติดต่อและอยู่ระหว่างส่งตัวอย่างไปทดลอง ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ จีน เกาหลี ด้วยคุณสมบัติที่มีความเสถียรและปลอดภัยสูง