โรงเรือนไอโอที ตอบเทรนด์สวนผักคนกรุง

โรงเรือนไอโอที ตอบเทรนด์สวนผักคนกรุง

วว.ตอบโจทย์เกษตรสมัยใหม่เพื่อสังคมเมือง พัฒนาระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำ หนุนปลูกพืชผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน ลดปัญหาการใช้แรงงาน เตรียมโชว์ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ เม.ย.นี้

นางอาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว.ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิจัยและพัฒนา “ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำ” ติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่เทคโนธานี จ.ปทุมธานี และที่บริษัท อินดัสเตรียล ออโตเมชั่น แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด จ.นนทบุรี

“นับเป็นนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์สภาพสังคมของเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีข้อจำกัดในเรื่องสภาพพื้นที่ อย่างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือห้องชุด ที่สภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมเพราะได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และไม่ค่อยมีเวลาดูแลเพราะต้องไปทำงานนอกบ้าน แต่ต้องการปลูกพืชผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน”

ระบบโรงเรือนอัตโนมัตินี้ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของทุกสิ่ง (IoT) ในการติดตามสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโตของผักในโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ เช่น ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ควบคุมค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ และควบคุมความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารในน้ำ เมื่อมากไปหรือน้อยไประบบควบคุมอัตโนมัติสามารถลดหรือเพิ่มค่าที่ควบคุมต่างๆตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้สภาพแวดล้อมเกิดความสมดุล

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก โดยค่าที่วัดได้จะถูกส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปยังสมาร์ทโฟนทำให้สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ภายในโรงเรือน และสามารถสั่งงานย้อนกลับมายังกล่องควบคุมอัตโนมัติได้

"หากมีการนำไปใช้แพร่หลายจะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคพืชผักปลอดสารเคมีมากขึ้น นับเป็นความสำเร็จในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบโจทย์ของสังคมอย่างเป็นรูปธรรม”

ระบบโรงเรือนอัตโนมัตินี้เป็น 1 ใน 5 ผลงานวิจัยและพัฒนา “เกษตรสมัยใหม่ เพื่อประเทศไทยยั่งยืน” ประกอบด้วย ระบบสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการเกษตรแบบ Gantry Robot ชนิดควบคุมอัตโนมัติ, เครื่องคัดแยกกาแฟเชอรี่สดและเครื่องคัดแยกขนาดเมล็ดกาแฟ, เครื่องชุบถุงมือผ้าเคลือบยางพาราอัตโนมัติ และ เครื่องคัดแยกทะลายปาล์ม เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการเนื่องในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562 (Thailand Research Expo 2019) ระหว่างวันที่ 7-10 เม.ย.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ได้รับเกียรติจากพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย”