สูตรความสำเร็จบัณฑิตสายท่องเที่ยว เผยทักษะสู้ศึกภาคบริการยุคใหม่

สูตรความสำเร็จบัณฑิตสายท่องเที่ยว เผยทักษะสู้ศึกภาคบริการยุคใหม่

ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับไทยอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกัน ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ขาดแคลนบุคลากรอยู่ตลอดเวลาทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้ประกอบการคาดหวังทักษะจาก “คนทำงาน” มากขึ้นเช่นปัจจุบัน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่สามารถสร้างบัณฑิตคุณภาพ จนเข้าไปประสบความสำเร็จอยู่ในองค์กรชั้นนำด้านการท่องเที่ยวและการบริการ

นายอนุชิต แสงอ่อน รักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการการบริการและการท่องเที่ยว (Hospitality and Tourism Management) คณะวิทยาการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวว่า ในยุคที่ผู้ประกอบการต้องการบุคลากรที่มีประสบการณ์พร้อมสู่โลกการทำงาน พีไอเอ็มพยายามสร้างจุดแข็งกับนักศึกษาหลากหลายด้าน เพื่อให้ก้าวออกไปเป็นบัณฑิตที่ประสบความสำเร็จ มีทั้งความรู้ทางวิชาการ และความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ

3_7

จุดแข็งแรก คือการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ เพื่อให้บัณฑิตมีโอกาสได้ไปพบกับประสบการณ์จริงทั้งในภาคการท่องเที่ยว ภาคการบิน ภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและการบริการในองค์กรชั้นนำที่มีมาตรฐานสากล

จุดแข็งที่สอง คือการให้ความสำคัญการปฏิบัติจริง ตามแนวทาง Work-based Education สำหรับหลักสูตรสาขาการจัดการการบริการและการท่องเที่ยว ต้องผ่านการฝึกงานถึง 7 ครั้ง ตลอดช่วงเวลาในหลักสูตร นักศึกษาจะมีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานในหลากหลายตำแหน่งในช่วงปี 2-4 ทั้งในด้านโรงแรมและการจัดการทัวร์  ทำให้ได้ทั้งการเรียนรู้และมีโอกาสค้นหาตัวเองว่าชอบทำงานในตำแหน่งใด เพื่อจะได้เป็นบัณฑิตที่มีทั้งคุณภาพและสามารถเลือกทำงานในด้านที่ตัวเองถนัดหรือชอบจริงๆ หลังเรียนจบ

จุดแข็งที่สาม คือการให้ความสำคัญกับเรื่องภาษา เพราะเรื่องภาษาเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนำไปใช้จริงในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาที่สาม หลักสูตรจึงออกแบบให้ได้ศึกษาด้านภาษาอย่างเต็มที่ถึง 15 หน่วยกิต

2_15

ด้าน มัดหมี่-ธฤตมน บุญทรักษา บัณฑิตรุ่นแรกจากสาขาวิชาการจัดการการบริการและการท่องเที่ยว พีไอเอ็ม เล่าว่า ด้วยหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องการฝึกงานและเรื่องภาษา ทำให้เธอได้มีโอกาสไปฝึกงานในแผนกต้อนรับส่วนหน้า (Front Office) ณ โรงแรม Hilton Surfers Paradise ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 4 เดือน ได้ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น และได้พัฒนาทักษะภาษาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน เธอสามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และสเปน

“งานสายนี้ ต้องใช้ทักษะภาษาเป็นส่วนใหญ่ถึง 80% ภาษาที่สองและภาษาที่สามจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทักษะอื่นๆ เองก็มีความสำคัญ ทั้งทักษะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กร ทักษะด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริการ โอกาสในการไปฝึกงานถึง 7 ครั้ง และหลักสูตรที่แน่นด้วยเรื่องภาษา ทำให้เรามีทักษะพร้อมทำงานบนโลกสนามจริง”

ล่าสุดเธอได้เข้าทำงานในตำแหน่ง Personal Assistant Agent โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok โรงแรมระดับเวิลด์คลาสของเครือฮิลตัน

เช่นเดียวกันกับ วิเวียน-กัญญ์ ณณัฐ อายุ 22 ปี บัณฑิตรุ่นแรกสาขาการจัดการธุรกิจการบิน ปัจจุบันเป็นลูกเรือสายการบินเวียดเจ็ทแอร์ ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตทตั้งแต่มัธยมปลาย ด้วยการมีเครือข่ายมากมายของพีไอเอ็ม จึงทำให้เธอเลือกมาเรียนสาขาการบินเพื่อเติมฝันให้เป็นจริงสู่ตามที่เธอวาดไว้ และก้าวสู่แก่นแท้ของงานบริการที่มีหัวใจหลักว่า “บริการด้วยใจสร้างความประทับใจผ่านรอยยิ้ม”

“รู้สึกว่าพีไอเอ็มให้ความสำคัญการบูรณาการความรู้ที่เรียนในห้อง เพื่อไปปรับใช้ในการทำงานในสถานประกอบการจริง พอเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน การปรับตัวจึงเป็นเรื่องง่ายในทันที ประทับใจมากกับเหล่าคณาจารย์ บางคนเคยเป็นลูกเรือมาก่อนก็เอาเคสตัวอย่างมาถ่ายทอดให้ฟัง พร้อมคอยให้คำแนะนำการเตรียมพร้อมก่อนลงสนามจริง ทุกชั้นปีเราฝึกงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสถาบันเราจึงไม่มีวันปิดเทอมแต่เราสนุกมากกับการฝึกงานในทุกๆ เทอม ไม่ต้องมานั่งจินตนาการเองว่าอาชีพที่เราฝันเขาทำงานกันอย่างไร”