‘อิตาลี’ชนวนขัดแย้ง‘จีน-อียู’

‘อิตาลี’ชนวนขัดแย้ง‘จีน-อียู’

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเปิดฉากเยือนยุโรปแล้ววานนี้ (22 มี.ค.) เริ่มต้นที่กรุงโรมของอิตาลี ท่ามกลางความไม่สบายใจของโลกตะวันตกที่อิตาลีเข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ ของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียรายนี้

วันนี้ (23 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับประธานาธิบดีสี นำอิตาลีเข้าร่วมโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ถือเป็นประเทศแรกในกลุ่ม จี7 ที่เข้าร่วมโดยไม่สนว่าจะเกิดความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาล

ประธานาธิบดีสี เดินทางมาถึงกรุงโรมตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี (21 มี.ค.) เข้าพบกับประธานาธิบดีเซอร์จิโอ มัตตาเรลลาในวันศุกร์ (22 มี.ค.) จากนั้นเยี่ยมชมรัฐสภาและโคลอสเซียม แล้วจึงไปที่ปาแลร์โม ทางภาคใต้ของอิตาลี เมืองเอกของแคว้นซิซิลี ด้วยมีรายงานว่า เผิง ลี่หยวน สุภาพสตรีหมายเลข 1 นักร้องจากแดนมังกร ต้องการชมโรงโอเปรามัสสิโม

ทางการต้องใช้กำลังตำรวจพิเศษราว 1,000 นายดูแลความเรียบร้อยรอบกรุงโรม ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีจีน แต่ก็มีสิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นและบางคนมองว่านี่คือการดูหมิ่นกันเมื่อมัตติโอ ซาลวินีรองนายกรัฐมนตรีขวาจัด กล่าวว่า เขาจะไม่ร่วมงานเลี้ยงอาหารเย็นอย่างเป็นทางการแก่ประธานาธิบดีสีในวันนี้ที่ทำเนียบประธานาธิบดีโดยให้เหตุผลว่า อิตาลีไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร ทั้งยังเตือนให้ระวังการใช้เทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากจีน

ท่าทีของเขาช่างแตกต่างกับลุยจิ ดี ไมโอ รองนายกรัฐมนตรีจากขบวนการ 5 ดาวที่กระหายอยากเป็นพันธมิตรกับจีน วานนี้เขาขึ้นเวทีประชุมภาคธุรกิจจีน-อิตาลีด้วย

ที่ผ่านมา  สหรัฐพยายามเตือนพันธมิตรยุโรป ให้ระวังหัวเว่ยอาจใช้เทคโนโลยี 5จีของตนล้วงความลับได้ ซึ่งจีนตอบโต้ว่าเป็นการโจมตีอย่างไร้จริยธรรม แต่การที่อิตาลีซึ่งเป็นพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มีแผนร่วมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางทะเล ทางบก และทางรถไฟกับจีน ทั้งๆ ที่ถูกวิจารณ์ว่าประโยชน์ส่วนใหญ่ตกแก่บริษัทจีนย่อมทำให้ทั้งพันธมิตรตะวันตกและภายในรัฐบาลอิตาลีเองคลางแคลงใจไม่น้อย

“โรมกำลังเสี่ยงเป็นม้าไม้โทรจันในยุโรปให้จีน”มาริอัสเตลลา เจลมินีจากพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของอดีตนายกรัฐมนตรีซิลวิโอกล่าว

ตอนนี้อิตาลีกำลังหนี้ท่วม และในทางเทคนิคถือว่าเศรษฐกิจถดถอย จึงต้องการทำธุรกิจกับจีนมากขึ้น นายหวัง จ้าว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน พยายามแก้ข้อสงสัยต่อผู้สื่อข่าวอิตาลีว่า ความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศจะมีแต่สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้งอกงามขึ้น

สวนทางกับกาเร็ต มาร์ควิสเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ทวีตข้อความว่า อิตาลีไม่จำเป็นต้องไปรับรองโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนเลย

หนึี่งสัปดาห์ก่อนสีมาเยือนสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งเผยแผน 10 ขั้น ร่างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับรัฐบาลปักกิ่ง โดยเตือนว่า จีนเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าใหญ่สุดของอียู

ระหว่างวันที่ 21-22 มี.ค. อียูประชุมผู้นำที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งคอนเตต้องรับรองเป็นมั่นเป็นเหมาะเรื่องการเซ็นเอ็มโอยูแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับจีนให้ผู้นำอียูได้สบายใจ ก่อนจะบินกลับมาลงนามกับประธานาธิบดีสีที่กรุงโรม

ถัดจากอิตาลีผู้นำจีนจะไปเยือนโมนาโกและฝรั่งเศส โดยในวันอังคาร (26 มี.ค.) ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะหารือเรื่องการค้าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประธานาธิบดีสี นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

ตอนไปถึงที่ประชุมอียูซัมมิตในกรุงบรัสเซลส์ มาครงยินดีมากที่ยุโรปตื่นรู้กับความท้าทายจากจีน แต่สำนักงานของเขาในกรุงปารีสกลับมีน้ำเสียงอ่อนลง ประกาศว่าการที่มาครงและผู้นำยุโรปได้หารือกับสีในวันอังคาร เป็นโอกาสอธิบายยุทธศาสตร์ของยุโรป และหาจุดร่วมระหว่างยุโรปกับจีน

นอกจากนี้เดือนหน้าก็จะมีการประชุมสุดยอดจีน-อียู ที่อียูพยายามเปลี่ยนแปลงนโยบายที่จีนมีต่อยุโรป

“จีนได้เปรียบมากจากการวางแผนล่วงหน้า 30 ปี ขณะที่ประเทศตะวันตกวางแผนกันปีต่อปีเท่านั้น ในมุมนี้จีนจึงได้เปรียบเสมอ”จูเลียโน โนซีผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากวิทยาลัยธุรกิจมิลานโพลีเทคนิคให้ความเห็น

ปักกิ่งสนใจลงทุนในท่าเรืออิตาลีเป็นพิเศษ เพื่อเป็นช่องทางนำสินค้ามาขายในยุโรป แต่ก็มีหลายเสียงเตือนโรมว่าอย่าให้ซ้ำรอยท่าเรือพิเรอุสของกรีซก็แล้วกัน ที่สุดท้ายถูกคอสโก บริษัทชิปปิงรายใหญ่ของจีนเทคโอเวอร์ไปในปี 2559

เรื่องนี้มีคนเห็นต่าง ผู้ที่สนับสนุนให้ทำเอ็มโอยูกล่าวว่า การลงนามกันจะทำให้จีนปฏิบัติตามมาตรฐานของอียู ซึ่งเปรียบเทียบกันไม่ได้กับข้อตกลงสร้างหนี้ที่ปักกิ่งไปลงนามกับประเทศกำลังพัฒนา

ด้านมาร์โก ทรอนเชตตีประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทยางพิเรลลี่ ที่จีนถือหุ้นอยู่ 45% แนะว่า การจะทำข้อตกลงใดๆ กับจีนต้องสมดุล

“เราจำเป็นต้องสร้างกติกาการแข่งขันให้น่าเชื่อถือ แต่เมื่อผลประโยชน์สอดคล้องเราก็ไม่อาจทิ้งโอกาสไปได้”

อย่างไรก็ตาม แม้การเยือนอิตาลีจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเพียงใด แต่สีก็ไม่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สำนักวาติกันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ทั้งสองจึงไม่น่าจะพบกันแม้ว่าจะมีข้อตกลงแต่งตั้งบิช็อปในจีนเมื่อปีที่ผ่านมา