ยธ.เปิดช่องขอตัวมือฆ่า 'ลำดวน' รับโทษในไทย

ยธ.เปิดช่องขอตัวมือฆ่า 'ลำดวน' รับโทษในไทย

"ดีเอสไอ" แจงร่วมมือตำรวจอังกฤษจนพิสูจน์ทราบดีเอ็นเอศพนิรนาม “ลำดวน อาร์มิเทจ” สตรีแห่งขุนเขา เตือนสื่อ ติดต่อสัมภาษณ์คนใกล้ชิดผู้ตายอาจกระทบการสอบสวนในต่างประเทศ ด้านรองปลัดยธ. เผย กฎหมายเปิดช่องร้องขอลงโทษผู้กระทำผิดในประเทศไทยได้

ตามที่สำนักงานตำรวจนอร์ทยอร์กเชียร์ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จากการสืบสวนและผลตรวจ DNA ศพหญิงที่พบอุทยานแห่งชาติ ในมณฑลยอร์กเชียร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 เป็นศพของนางลำดวน อาร์มิเทจ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมสได้ทำงานร่วมกับตำรวจอังกฤษอย่างต่อเนื่องในการสืบสวนกรณีดังกล่าว ตามที่ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหราชอาณาจักร (National Crime Agency – NCA) ให้ตรวจสอบกรณีหญิงไทย (นางลำดวน อาร์มิเทจ) ที่แต่งงานกับชายชาวอังกฤษ และได้หายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับศพหญิงนิรนามชาวเอเชีย ที่ถูกพบบริเวณอุทยานแห่งชาติ ในมณฑลยอร์กเชียร์ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ประกอบกับเครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักร ได้ประสานมายังศูนย์เครือข่ายและพันธมิตรภาคประชาชน ดีเอสไอขอให้ดำเนินการกรณีดังกล่าว

สำหรับการดำเนินงานจนสามารถพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์ของนางลำดวนได้นั้น ดีเอสไอได้ประสานงานกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ขอเก็บตัวอย่าง DNA จากมารดาของนางลำดวน เพื่อส่งไปพิสูจน์ยังสหราชอาณาจักร รวมทั้งได้ประสานงานกับตำรวจอังกฤษ ขอตัวอย่างลายพิมพ์นิ้วมือของศพ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของนางลำดวน

ในขั้นต่อไป ดีเอสไอจะให้ความร่วมมือกับตำรวจอังกฤษในการสืบสวนกรณีการเสียชีวิตของนางลำดวนเพื่อให้ความยุติธรรมแก่นางลำดวนและครอบครัวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสื่อมวลชนหลายแขนงพยายามติดต่อญาติหรือบุคคลใกล้ชิดของนางลำดวน ซึ่งอาจกระทบต่อการสืบสวนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรณีดังกล่าว จึงขอให้สื่อมวลชนติดตามข่าวจากดีเอสไอ ซึ่งจะแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป

ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 (ข) บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักรไทย ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 -20 ปี ตามมาตรา 288 และตามมาตรา 289 รวมถึงการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544