'ลดแหลก-แจกหนัก-เกทับ' อีกไม่กี่วันก็รู้ผล!

'ลดแหลก-แจกหนัก-เกทับ' อีกไม่กี่วันก็รู้ผล!

อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเราจะได้รู้ว่า อนาคตของประเทศหลังว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน 5 ปี จะเดินหน้าไปในทิศทางใด

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหว 3 วันสุดท้ายจึงเต็มไปด้วยการเปิดเวทีปราศรัย ประชันนโยบายของบรรดาพรรคการเมืองกันอย่าง “สุดฤทธิ์สุดเดช”

โดยเฉพาะนโยบาย “แจกแหลก” ที่บรรดาพรรคการเมืองต่างหยิบยกมาประชันและมีการ “เกทับ” กันไปมาเพื่อเรียก “เรทติ้ง” หวังให้พรรคและผู้สมัครได้รับชัยชนะในครั้งนี้ ที่เห็นชัดคือนโยบายแก้ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เปรียบเทียบในแต่ละพรรคไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ 400-425 บาทต่อวัน พรรคเพื่อไทย 400 บาทต่อวัน พรรคประชาธิปัตย์ ประกันรายได้ขั้นต่ำ400บาทต่อวัน /120,000 บาทต่อปี

ขณะที่เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอที่ 20,000 บาทต่อเดือน /อาชีวะ18,000 บาท พรรคเพื่อไทย 18,000 ต่อเดือน (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี 54 นำเสนอที่15,000)

อีกหนึ่งนโยบายสำคัญนั่นคือ ราคาพืชผลทางการเกษตร พรรคพลังประชารัฐ ชูนโยบาย ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม พรรคเพื่อไทย ชูนโยบาย “อยู่กับเรากระเป๋าตุงอยู่กับลุงกระเป๋าแฟบ” ประกอบด้วยการชำระหนี้ 3 ปี ขณะที่ราคาข้าวในฤดูกาลแรกของการผลิต เกวียนละ 5,000 บาท สูงสุด 15 เกวียน หรือ 75,000 บาทต่อราย

พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบาย ข้าว ราคาไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาทยางพารา ราคาไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมปาล์ม ราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม พรรคภูมิใจไทย ชูนโยบาย “กำไรแบ่งปัน สินค้าเกษตร” คือขายข้าวขาว ตันละ 7,900 บาท ได้กำไรแบ่งปันเพิ่มขึ้นอีก 800 บาท รวมเป็น 8,700 บาท และข้าวหอมมะลิ ตันละ 18,000 บาท ได้กำไรแบ่งปันเพิ่มขึ้นอีก 1,500 บาท รวมเป็น 19,500 บาท เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหลายๆนโยบาย หลายๆพรรคการเมืองที่หยิบยกมาเพื่อยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ให้เห็นภาพถึงการ “ลดแลก-แจกหนัก-และเกทับ” ของแต่ละพรรคการเมืองที่เน้นเทไปที่ “นโยบายประชานิยม” เป็นหลัก

แต่ทว่า การชูนโยบายในลักษณะดังกล่าวหนี้ไม่พ้นข้อกังวล จากบรรดา“กูรู” ทั้งหลายที่มองว่าอาจจะส่งผลต่อวินัยการเงินการคลัง พร้อมคำถามที่ตามมาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินว่า “จะมาจากไหน”

ล่าสุด “มือร้อง” อย่าง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อกกต. เพื่อขอให้เร่งดำเนินการกับนโยบายหาเสียง เหล่านี้ที่ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดทั้งแหล่งที่มาของเงิน และการประเมินผลได้ผลเสีย และอาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 57 ที่กำหนดให้ประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องมีรายการชี้แจงเกี่ยวกับวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ

อีก3วันเราจะได้รู้กันว่า นโยบาย “ลดแหลก-แจกหนัก-เกทับ” ของบรรดาพรรคการเมืองจะสามารถ “ซื้อใจ” ประชาชนได้มากน้อยเพียงใด ต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากบรรดาแฟนคลับของแต่ละพรรคแล้ว ยังมีกลุ่ม “พลังเงียบ” ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว!