ดึง5ชาติผลิตคนป้อนอีอีซี

ดึง5ชาติผลิตคนป้อนอีอีซี

สกพอ.เผย 5 ปี ต้องการบุคลากร 4.7 แสนคน จับมือ 11 มหาวิทยาลัย 43 วิทยาลัยอาชีวะ 335 โรงงาน ปั้นแรงงานคุณภาพสูง พร้อมจับมือ 5 ประเทศ ร่วมพัฒนาครู อาจารย์ ระบุ หากได้รับ บีโอไอ จะผลิตบุคลากรป้อนได้ทันเมื่อโรงงานเสร็จ

นายอภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จากการศึกษาความต้องการบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน พบว่าภายใน 5 ปี นับจากนี้ ต้องการบุคลากร 4.75 แสนคน แบ่งเป็นความต้องการระดับอาชีวะ 2.53 แสนคน ระดับปริญญาตรี 2.12 แสนคน ระดับปริญญาโท-เอก 8,600 คน

สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 11 แห่ง ทั้งในและนอกอีอีซี วิทยาลัยอาชีวะ 43 แห่ง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 205 แห่ง โรงงานและภาคธุรกิจ 335 แห่ง

ทั้งนี้ แนวทางการสร้างบุคลากรระดับอาชีวศึกษา แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.อีอีซีโมเดล หรือบุคลากรคุณภาพชั้นสูง จะมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาจับมือกับวิทยาลัยอาชีวะเข้าร่วม 12 แห่ง พัฒนานักศึกษา โดยโรงงานที่เข้าร่วมจะสนับสนุนทุนการศึกษา มีค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาทุกเดือน และระหว่างฝึกงานจะได้เบี้ยเลี้ยง และจบออกมาจะมีงานทำทันที มีเงินเดือนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ซึ่งสร้างบุคลากรได้ปีละ 6,000 คน และจะขยายไปทุกวิทยาลัยในอนาคต ซึ่งจะผลิตบุคลากรทั้งรูปแบบอีอีซีโอเดล และแบบปกติ
“กลุ่มนี้ในปี 2563 จะผลิตเพิ่มได้อีก 30% หรือสร้างบุคลากรอาชีวะคุณภาพสูงได้ 7.8 พันคน และในปีต่อไปจะเร่งผลิตเพิ่มขึ้นอีก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง”

วิทยาลัยอาชีวะ200แห่งเข้าร่วม

2.ระบบผลิตแบบปกติ จะผลิตบุคลากรไม่เข้มข้นเท่าแบบแรก ซึ่งมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอีอีซีเข้าร่วม 31 แห่ง ผลิตบุคลากรอาชีวศึกษาได้ 10,000 คนต่อปี รวม 5 ปีจะผลิตได้ 50,000 คน 3.วิทยาลัยอาชีวศึกษานอกอีอีซี เข้าร่วม 100-200 แห่ง โดยโรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมนักศึกษาเหล่านี้ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
ส่วนการผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรีขึ้นไปมี 2 รูปแบบ คือ 1.อีอีซีโมเดล ร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดยใน 5 ปี จะผลิตบุคลากรได้ 30% ของความต้องการทั้งหมด 66,000 คน จากความต้องการทั้งหมด 2.2 แสนคน

2.จะร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งประเทศผลิตบึคลากรระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่เหลือ
สำหรับการพัฒนาครู อาจารย์ จะมีโปรแกรมการฝึกอบรมครูอาจารย์ทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาในอีอีซี ครูจะปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาอีอีซีให้เด็กนักเรียนเข้าใจ และมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อในสาขาที่อีอีซีต้องการ รวมทั้งมีแนวคิดต่อยอดแผนอีอีซีในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย จะร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ จัดทีมไปอบรมอาจารย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพราะเป็นอุตสาหกรรมรากฐานในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในอีอีซี

จับคู่สถาบันศึกษาไทย-ต่างชาติ

นอกจากนี้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆชั้นนำใน 5 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ , เยอรมัน , ออสเตรีย , ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งจะเข้ามาร่วมกับอีอีซีในการฝึกอบรมพัฒนาอาจารย์ให้มีความรู้ในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อที่จะเข้าไปถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งยังได้วิจัยต่างๆใน อีอีซี ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีจะร่วมกับประเทศจีน ตั้งศูนย์ผลิตบุคลากรในระบบราง ส่วนมหาวิทยาลัยบูรพาจะร่วมกับมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งศูนย์ผลิตบุคลากรระบบออโตเมชั่น และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา จะร่วมกับประเทศเยอรมัน และวิทยาลัยไออาร์พีซี จะตั้งศูนย์ผลิตบุคลากรด้านปิโตรเคมี และเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของความต้องการแรงงานในอีอีซี โดยการศึกษาความต้องการบุคลากรในอีอีซีครั้งนี้ จะช่วยให้มีตัวเลขเป้าหมายของแรงงานที่ชัดเจน คาดได้ว่าแต่ละอุตสาหกรรมต้องการแรงงานเท่าใด เพื่อนำไปวางแผนผลิตบุคลากรได้ตามความต้องการ เช่น ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีความต้องการใน 5-6 สาขาวิชา นำไปกำหนดว่าความต้องการแรงงานระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี โท เอก

ตอบสนองความต้องการเอกชน

นอกจากนี้ เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะนำไปทำหลักสูตรในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.System Integrator 2.Mass production 3.การผลิตหุ่นยนต์ ถ้าแต่ละกลุ่มลงทุน 100 ล้านบาท จะประเมินได้ว่าต้องการแรงงานเท่าใด ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการขอรับส่งเสริมการลงทุนจะรู้ความต้องการล่วงหน้าก่อนโรงงานเสร็จ 2 ปี ก็จะผลิตบุคลากรรองรับได้หลังสร้างโรงงานเสร็จทันที ซึ่งจะดีกว่าในอดีต ที่โรงงานเสร็จแล้วจึงมาเร่งผลิตบุคลากร ตัวเลขความต้องการจะปรับเปลี่ยนตามการขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในอนาคต

“การผลิตบุคลากรรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะตอบสนองความต้องการนักลงทุนได้ทันที โดยตั้งแต่ผู้ประกอบการได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จะส่งข้อมูลความต้องการบุคลากรมาที่ สกพอ.ทันที และจะประสานไปสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร โดยปกติเมื่อผู้ประกอบการได้บีโอไอจะใช้เวลาสร้างโรงงาน 2 ปี ซึ่งเมื่อสร้างโรงงานเสร็จนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะจบการศึกษาและเข้าทำงานได้ทันที แต่ถ้าต้องการบุคลากรเร่งด่วนจะมีระบบรีสกิลที่ใช้เวลาไม่นาน"

ส่วนในการรับรองมาตรฐานแรงงานนั้น จะร่วมกับ เพียร์สัน บริษัทรับรองฝีมือแรงงานจากอังกฤษมารับรองนักศึกษา โดยเริ่มจาก 2 อุตสาหกรรมเป้าหมายก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ