ลั่นประมูล 2600 ต้องเกิด คาดเคาะได้ไตรมาส 3

ลั่นประมูล 2600 ต้องเกิด คาดเคาะได้ไตรมาส 3

กสทช.เชื่อประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ทันไตรมาส 3 ปีนี้ ย้ำ 5จีต้องเกิดเพื่อเป็นพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมอื่นไม่เฉพาะแค่โทรคมฯโดยตรง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์มาให้จัดสรรว่า สำนักงานฯได้มีหนังสือแจ้งมติบอร์ดไปที่บมจ.อสมท.เจ้าของคลื่นแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนจากนี้คือรอการพิจารณาตอบกลับว่าอสมทจะมีข้อโต้แย้งหรือมีคำตอบอย่างไร เมื่อได้คำตอบจะนำความเห็นเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกสทช.วันที่ 26 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ สำนักงานกสทช.ได้ทำการประเมินคลื่นความถี่ และกำหนดมาตรการเยียวยา โดยให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนการประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์น่าจะเกิดขึ้นได้ประมาณเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ส่วนความพร้อมในการให้บริการ 5จีมีผลต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม หากเทคโนโลยีไม่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียโอกาส

โดยกสทช.มองว่า อย่างช้า 5จีจะเกิดปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมควรจะมี 5จีใช้งานเพื่อให้สมาร์ทพอร์ต หรือ ท่าเรืออัจฉริยะ บริการส่งออกและนำเข้าสินค้าลดขั้นตอนที่เรียกว่าซิงเกิ้ลวินโดส์เกิดขึ้น ปัญหาต่อการลงทุนและการผลิตจะหมดไป โดยการที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมองว่าปี 2563 เป็นปีที่ผู้ประกอบการมีภาระในการลงทุนมากทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และการประมูลคลื่นความถี่ใหม่รวมถึงการลงทุนพัฒนาเครือข่ายเพื่อรองรับ 5จี

“กสทช.มองว่าผลที่เกิดขึ้นจาก 5จี ไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยตรง แต่เกิดกับประโยชน์กับประเทศโดยรวมซึ่งรวมทั้งอุตสาหกรรมโทรคมและอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นการขับเคลื่อน 5จี อาจจะไม่ได้ขับเคลื่อนโดยการนำของธุรกิจโทรคมนาคมเสมอไป อาจจะเป็นอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีความจำเป็นนำคลื่นความถี่ไปใช้บริการ”

พร้อมกันนี้ จากสถิติจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2561 พบว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 124.63 ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากร 69.11 ล้านคน โดยปัญหาที่พบมากในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ แบตเตอรี่เสื่อม เนื่องจากใช้งานขณะชาร์จไฟ และการใช้อุปกรณ์การชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน กสทช.จึงเปิดโครงการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานของแบตเตอรี่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้แนวคิด “ปลอดภัยใช้ดี เลือกแบตเตอรี่มีมาตรฐาน” ซึ่งร่วมกับศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ร่วมทดสอบมาตรฐาน และให้ความรู้แก่ประชาชน ในการเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพต่อไป