มหกรรมไอที เวทีปั้น‘นวัตกรวัยใส’

มหกรรมไอที เวทีปั้น‘นวัตกรวัยใส’

ดีปลีต้านมะเร็งเม็ดเลือดแดง เมือกหอยทากยักษ์รักษาสภาพหน้ายางพารา สองไอเดียของเด็กมัธยมที่ผู้ใหญ่ยังทึ่งนำเสนอผ่านเวที YSC 2019 เนคเทคเดินหน้ากลไกสร้างคน รับดีมานด์คนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพุ่งสูง

การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ YSC เป็นกิจกรรมหนึ่งในภายในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ปีนี้มีโครงงานวิทย์ฯ เข้าร่วม 1,528 โครงงานจาก 203 โรงเรียน

ฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยดีปลี

จากโจทย์ง่ายๆ ที่อยากพิสูจน์ฤทธิ์ “ดีปลี” ในการฆ่าลูกน้ำยุงลาย ขยับขยายเพิ่มความยากซับซ้อนกลายเป็นโครงงาน “คุณสมบัติการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดแดงชนิด K562 ของสารสกัดหยาบจากผลดีปลีที่พบในท้องถิ่น” โดย ณัฏฐณิชา อินละปะและธนัทดา จิรนุวัฒน์วงค์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

ทั้งสองมองแนวโน้มการใช้ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ที่ใช้สารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชที่มีสีแดง ม่วง เขียว แล้วพุ่งความสนใจมาที่ “ดีปลี” พืชสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ช่วยเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ ช่วยต่อต้านออกซิเดชัน ต้านพิษต่อตับ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และมีสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ที่มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองแท้ง ดังนั้น สำหรับสตรีตั้งครรภ์จึงไม่ควรรับประทาน

“เราเริ่มศึกษาโครงสร้างของสารประกอบในสารสกัดหยาบผลดีปลี โดยผลดีปลีตากแห้งบด 1 กิโลกรัม สกัดด้วยตัวทำละลายเฮกเซนได้สารสกัดมวล 46.96 กรัม จากนั้นนำมาแยกสารประกอบได้เป็นสารสกัดในชั้นไขมันจากดีปลี และสารสกัดบริสุทธิ์ในชั้นเฮกเซน ซึ่งคือสารเมทิลไพเพอเรท (Methyl Piperate)”

เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดแดงกับเซลล์มะเร็ง K562 ที่ไวต่อยา และเซลล์มะเร็ง K562/adr ดื้อยา พบว่า สารสกัดหยาบในชั้นเฮกเซนและสารเมทิลไพเพอเรท สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้งสอง จึงอาจต่อยอดพัฒนาเป็นยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระบบโลหิตวิทยา จากวัตถุดิบในท้องถิ่นของไทยได้

เมือกหอยทากกันเชื้อรา

ไอเดียของนวัตกรรุ่นเยาว์ในเชียงรายก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เมื่อ จุฬารัตน์ พุทธวงค์, ณัฐณิชา ปัญญาอิ่นแก้วและรัชชานนท์ เมธีสิทธิกุล นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย เปลี่ยนปัญหาที่พบในสวนยางพาราของครอบครัวให้เป็นโจทย์โครงงานวิทยาศาสตร์

“ยางพารามีปัญหาโรคเปลือกเน่า หน้ายางตาย และด้วงดำเจาะทำลายเปลือก มีงานวิจัยระบุว่า เมือกของหอยทากสยามสามารถป้องกันเชื้อรา แต่หอยทากมีขนาดเล็กให้เมือกน้อย ไม่คุ้มทุน จึงสนใจศึกษาหอยทากยักษ์แอฟริกาที่ให้ปริมาณเมือกกว่า 26 กรัมต่อตัว” จุฬารัตน์ กล่าว

จากการศึกษาพบคุณสมบัติยับยั้งเชื้อรา Ceratocystis fimbriata ที่ก่อโรคเปลือกเน่า หากใช้ความเข้มข้นของเมือกหอยทาก 60% ขึ้นไป ทั้งยังสามารถไล่ด้วงดำเจาะทำลายเปลือกยางฯ และช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำยางโดยทำให้สามารถกรีดหน้ายางซ้ำได้เพิ่มขึ้นจาก 13 ครั้งเป็น 29 ครั้ง หน้ายางเกิดใหม่เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้สารทาหน้ายางที่ขายอยู่ในท้องตลาด

“เราได้แจกจ่ายตัวอย่างให้เกษตรกรสวนยางพาราในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปทดลองใช้ ต่อมาได้ผลิตสารป้องกันเชื้อราจากเมือกหอยทากยักษ์ขายขนาด 300 มิลลิลิตรในราคา 30 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เกษตรกร 1 ใน 3 ของพื้นที่ใช้นวัตกรรมของเราอยู่ และหวังว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นจากการบอกต่อแบบปากต่อปาก”

เนคเทคหนุนเวทีสร้างอาชีพ

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ปีนี้ผลงานของเยาวชนเข้มข้นขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน โดยจะเห็นได้จาก 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งการแย่งชิงบุคลากร โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ด้านไอที เอไอ ไอโอที บิ๊กดาต้า

“มหกรรมไอทีเป็นมากกว่าการประกวดของเด็กๆ แต่เป็นสนามให้ภาคเอกชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ แม้กระทั่งเนคเทคเอง มาสรรหาคนที่มีศักยภาพไปทำงานในองค์กร กลายเป็นเส้นทางอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นทั้งโอกาสและมีทุนการศึกษาวิจัยต่างๆ”

การเปลี่ยนแปลงอีกประการคือ การขยับจากโครงงานวิจัยของเด็กไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชน หากย้อนไป 7-8 ปีก่อนมีความเป็นไปได้เพียง 5% ของโครงงานทั้งหมด แต่ปัจจุบันเพิ่มกว่า 10% และภายใน 3-5 ปีจะเพิ่มเป็น 30% จึงเป็นโจทย์สำหรับผู้จัดงานที่จะทำเวทีให้เป็นมากกว่าการโชว์ของเล่น แต่เป็นการทำงานได้ผลลัพธ์ที่ใช้ได้จริง