'หัวเว่ย' เผยไทยรั้งที่ 1 ยอดจัดซื้อเทคโนฯอาเซียน

'หัวเว่ย' เผยไทยรั้งที่ 1 ยอดจัดซื้อเทคโนฯอาเซียน

“หัวเว่ย” ประกาศยอดจัดซื้อจัดจ้างในอาเซียนปี 2561 มูลค่าสูงถึง 608 ล้านดอลลาร์ ไทยรั้งอันดับ 1 ยอดแตะ 196 ล้านดอลลาร์ คาดปี 2562 ยอดรวมทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 652 ล้านดอลลาร์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐไม่กระทบ

“หัวเว่ย” ประกาศยอดจัดซื้อจัดจ้างในอาเซียนปี 2561 มูลค่าสูงถึง 608 ล้านดอลลาร์ ไทยรั้งอันดับ 1 ยอดแตะ 196 ล้านดอลลาร์ คาดปี 2562 ยอดรวมทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 652 ล้านดอลลาร์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐไม่กระทบ มุ่งพัฒนาดิจิทัล ไม่ยุ่งการเมือง พร้อมเดินหน้าลงทุนหนุนระบบนิเวศ 5จี คาดไทยพร้อมใช้งาน 5จี เชิงพาณิชย์ภายปี 2563

นายเจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวเว่ย เผยว่า ยอดการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2561 มีมูลค่าทั้งสิ้น 608 ล้านดอลลาร์ เฉพาะประเทศไทยมีมูลค่า 196.3 ล้านดอลลาร์ นับว่าสูงที่สุดของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ อันดับ 2 อินเดีย 146 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยฮ่องกง 105.3 ล้านดอลลาร์ เมียนมา 60.8 ล้านดอลลาร์ บังคลาเทศ 29.3 ล้านดอลลาร์ ศรีลังกา 26.7 ล้านดอลลาร์ เนปาล 16.2 ล้านดอลลาร์ เวียดนาม 15.8 ล้านดอลลาร์ กัมพูชา 6.1 ล้านดอลลาร์ และลาว 5.1 ล้านดอลลาร์

แบ่งตามประเภท มาจากกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและเอ็นเตอร์ไพรส์ 354.1 ล้านดอลลาร์ กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ 106.1 ล้านดอลลาร์ หน่วยธุรกิจคลาวด์ 3.3 ล้านดอลลาร์ การบริหารจัดการ 144.1 ล้านดอลลาร์

หัวเว่ยคาดว่า ปี 2562 งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเป็น 652 ล้านดอลลาร์ เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 7.2% โดยมาจากกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและเอ็นเตอร์ไพรส์ 377 ล้านดอลลาร์ กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ 127.1 ล้านดอลลาร์ หน่วยธุรกิจคลาวด์ 8.5 ล้านดอลลาร์ การบริหารจัดการ 139.3 ล้านดอลลาร์ เฉพาะประเทศไทยคาดว่าจะทำได้ประมาณ 215 ล้านดอลลาร์

“ผมเชื่อว่าโอกาสทางการตลาดยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าปีนี้รวมทั้งภูมิภาคจะมีมูลค่าการประมูลไม่น้อยกว่า 720 ล้านดอลลาร์”

เขากล่าวว่า ระหว่างปี 2559 – 2561 การจัดซื้อจัดจ้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดของหัวเว่ยมีมูลค่าสูงถึง 2,090 ล้านดอลลาร์ 3 ปีที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันระหว่างหัวเว่ยและพันธมิตรกว่า 1,900 ราย ได้สร้างงานจำนวนมากกว่า 45,000 ตำแหน่งในบริษัทซัพพลายเออร์ของหัวเว่ย มีวิศวกรโทรคมนาคมในภูมิภาคนี้กว่า 125,000 คนได้รับการฝึกอบรม โดยวิศวกรกว่า 98,000 คนได้รับประกาศนียบัตรระดับมืออาชีพ

นอกจากนี้ หัวเว่ยดำเนินการตรวจสอบระบบคุณภาพของพันธมิตรหลักๆ กว่า 300 ครั้ง ช่วยให้บริษัทพันธมิตรกว่า 130 แห่งผ่านมาตรฐาน ISO หรือการรับรองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี สงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐไม่ได้ทำให้หัวเว่ยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด อีกทางหนึ่งกล่าวได้ว่าหัวเว่ยเป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยี 5จี ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกทั้งด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความปลอดภัย จากนี้การทำตลาดจะเน้นด้านเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน การประมวลผลอัจฉริยะ และอุปกรณ์ดีไวซ์ใหม่ๆ

“ปีนี้เราจะเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับ 5จี เอไอ บิ๊กดาต้า คลาวด์ และเอจคอมพิวติ้ง เพื่อทำให้สามารถติดตั้งใช้งานบริการใหม่ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมสนับสนุนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของลูกค้า”

สำหรับประเทศไทย จะนำเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาทำตลาดเพื่อช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัล ขอยืนยันว่าพร้อมเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศ 5จี บุคลากร และเครือข่าย คาดว่าการใช้งาน 5จี เชิงพาณิชย์ในไทยจะเริ่มราวๆ ต้นปีหน้า ดังนั้นภาครัฐและผู้ให้บริการโทรคมนาคมควรเตรียมตัวในเรื่องของคลื่นความถี่, ความพร้อมของสถานีฐาน, บุคลากร, ระบบนิเวศของอุตสาหกรรม และนโยบายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ไม่อาจแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับการเมือง แต่เชื่อว่าไม่ว่าผลของการเลือกตั้งหรือการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลและการปรับธุรกิจให้มีความสมาร์ทก็ยังจำเป็นอยู่

นายอู๋ กล่าวต่อว่า ปี 2562 จะเป็นปีของเทคโนโลยี 5จี ในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีระดับชาติที่สำคัญที่สุด เท่าที่ทราบขณะนี้ทุกประเทศในภูมิภาคมีแผนที่จะเริ่มทำการทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5จี กันแล้วคาดว่าฮ่องกงจะเป็นตลาดแรก ตามมาด้วยอินเดีย ไทย และเวียดนาม

โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า 5 จีจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมีการคาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะมีผู้ใช้งาน 5จี สูงถึง 80 ล้านราย ปริมาณข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมากกว่า 20 เมือง อุปกรณ์ดิจิทัลไร้สายที่มีความอัจฉริยะจะเพิ่มผลิตภาพทางสังคมได้มากขึ้นโดยเฉลี่ย 4-8%

ระหว่างปี 2561-2564 หัวเว่ยมีแผนใช้งบประมาณการลงทุนสำหรับวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อยกว่า 80 ล้านดอลลาร์ ที่เริ่มไปแล้วเช่น โอเพ่นแลปในกรุงเทพฯ และเดลี, โปรแกรมสนับสนุนนักพัฒนาด้านคลาวด์ และบุคลากรด้านไอซีที

พร้อมระบุ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดเกิดใหม่ จักรกลอันทรงพลังที่จะเชื่อมต่อนวัตกรรมและธุรกิจเข้าด้วยกัน แนวทางการทำธุรกิจของบริษัทมุ่งสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัล ไม่ใช่การเมือง การพิจารณาเพื่อลงทุนโครงการใหม่ๆ ประเมินจากความพร้อมของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก

ด้านความท้าทายสำหรับการพัฒนา 5จี หลักๆ คือ ราคาของคลื่นความถี่ การลงทุนโครงข่ายและสถานีฐานเพื่อการใช้งานที่ครอบคลุม รวมไปถึงการสร้างอีโคซิสเต็มส์ 5จี ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ตรงกับโจทย์ธุรกิจ