"ทีวีขายของ" ดันเงินโฆษณาทีวีก.พ.โตสวนภาพรวมดิ่ง

"ทีวีขายของ" ดันเงินโฆษณาทีวีก.พ.โตสวนภาพรวมดิ่ง

นีลเส็น เผยภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาเดือนก.พ. ร่วง 1.17% เฉพาะ"สื่อเคลื่อนที่ - ทีวี" ยังโต นอกนั้นติดลบ แบรนด์ด้านโฮมชอปปิง ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุดดันเม็ดเงินโฆษณาทีวี

บริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด  รายงานเม็ดเงินโฆษณาเดือนก.พ. ปี2562 มีมูลค่า 7,603 ล้านบาท ลดลง 1.17% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายเงินโฆษณาส่วนใหญ่หดตัวลง แต่สื่อทีวี ยังเติบโต โดยมีเม็ดเงินโฆษณา 4,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสื่อเคลื่อนที่ 525 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.38% โดยเป็นสองสื่อที่เม็ดเงินโฆษณายังเติบโต

ส่วนที่เหลืออยู่ในภาวะติดลบ ได้แก่ เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มูลค่า 166 ล้านบาท ลดลง 7.78% วิทยุ 326 ล้านบาท ลดลง 1.51% หนังสือพิมพ์ 372 ล้านบาท ลดลง 19.31% นิตยสาร 76 ล้านบาท ลดลง 27.62% สื่อโรงภาพยนตร์ 521 ล้านบาท ลดลง 8.11% สื่อนอกบ้าน 513 ล้านบาท ลดลง 6.9% สื่อในห้าง 71 ล้านบาท ลดลง 17.44% และสื่ออินเตอร์เน็ต 107 ล้านบาท ลดลง 3.6%

ทั้งนี้ แบรนด์ที่มีการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดเดือนก.พ. ได้แก่ ทีวีไดเร็ค กว่า 123 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้กว่า 226 ล้านบาท ตามด้วย สนุก ช็อปปิ้ง ไดเร็คเซลล์กว่า 94 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งเข้ามาทำตลาด โค้กกว่า 86 ล้านบาท เพิ่มจาก 79 ล้านบาท โอ ช้อปปิ้งกว่า 81 ล้านบาท เพิ่มจาก 9.14 แสนบาท และธนาคารออมสินกว่า 80 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้ไปกว่า 79 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ (ไทย)โฮลดิ้งส์ กว่า 226 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 286 ล้านบาท ตามด้วยพร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล(ประเทศไทย)กว่า 196 ล้านบาท เพิ่มจาก 163 ล้านบาท ไบเออร์สด๊อรฟ(ประเทศไทย) กว่า 145 ล้านบาท เพิ่มจาก 91 ล้านบาท ลอรีอัล(ประเทศไทย)กว่า 139 ล้านบาท เพิ่มจาก 83 ล้านบาท และเนสท์เล่(ไทย)กว่า 134 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 120 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวม 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ) ปี 2562 การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณามีมูลค่า 14,880 ล้านบาท ลดลง 1.42% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อแบ่งตามหมวดหมู่พบว่ามีเพียง 3 สื่อที่ยังขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ ทีวีมูลค่า 9,602 ล้านบาท เติบโต 2.72%  สื่อเคลื่อนที่มูลค่า 997 ล้านบาท เติบโต 3.42% และสื่ออินเตอร์เน็ตมีมูลค่า 246 ล้านบาท เติบโต 6.96% 

ที่เหลืออยู่ในภาวะติดลบ โดยเคเบิ้ลทีว/ทีวีดาวเทียม มีเม็ดเงินโฆณา 328 ล้านบาท ลดลง 13% วิทยุ 648 ล้านบาท ลดลง 0.31% หนังสือพิมพ์ 734 ล้านบาท ลดลง 19.25% นิตยสาร 149 ล้านบาท ลดลง 28.02% สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,022 ล้านบาท ลดลง 14.48% สื่อนอกบ้าน 1,026 ล้านบาท ลดลง 4.11% และสื่อในห้าง 129 ล้านบาท ลดลง 11.03%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวการปรับตัวของผู้ประกอบการทีวีดิจทัลที่รุกสู่ธุรกิจทีวีชอปปิงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK  ได้เปิดตัวรายการ Hello Shops เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นรายการจำหน่ายสินค้าโฮมชอปปิง ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท คือ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว แฟชั่น สุขภาพและความงาม เพื่อเจาะกลุ่มเพศหญิง ซึ่งเป็นแม่บ้านโดยออกอากาศ 4 ช่วงเวลา ช่วงละ 10 นาที และช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน

โดยผังรายการใหม่ ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์ได้เพิ่มช่วงเวลา Hello Shops อีก 4 ช่วงเวลา โดยตั้งเป้ารายได้จากการขายสินค้าผ่านทีวีชอปปิงในปี 2562 อยู่ 365 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จในปี 2561 มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 118.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 228% จากผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามเป็นหลัก

ที่ผ่านมายังมีช่อง 8 ของ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส หรือ RS ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจทีวีชอปปิง โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากทีวี แต่ใช้ทีวีเป็นแพลตฟอร์มตัวช่วยโปรโมทสินค้า และสปริงนิวส์ ที่ทีวีไดเร็คเช่าเวลาโฆษณา ในปัจจุบันรายการขายสินค้าทีวีชอปปิงแทรกซึมเข้าไปในทุกช่วงในทุกช่องทีวีดิจิทัลไปแล้ว