ผนึกกำลังฝ่ายไอที-ธุรกิจ หนุนความสำเร็จ ‘การปฏิรูปดิจิทัล’

ผนึกกำลังฝ่ายไอที-ธุรกิจ หนุนความสำเร็จ ‘การปฏิรูปดิจิทัล’

“การปฏิรูปไปสู่ดิจิทัล” ไม่ว่าจะเป็นการอัพเกรดด้านไอที การเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่ายดิจิทัล การลงทุนในผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ หากสิ่งที่ถูกมองข้ามบ่อยครั้ง คือ การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลง(change management)

"เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นบริษัทต่างๆ เริ่มดำเนินการในส่วน “ดิจิทัล” หรือทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิรูปไปสู่ดิจิทัล” ไม่ว่าจะเป็นการอัพเกรดด้านไอที การเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่ายดิจิทัล การลงทุนในผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ แต่สิ่งที่ถูกมองข้ามบ่อยครั้ง คือ การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลง(change management) กระบวนการเรียนรู้ เพื่อเข้ากันได้กับแนวทางทางสังคม และองค์ประกอบต่างๆ ทางการสื่อสารที่สำคัญต่อความสำเร็จสูงสุดของจุดมุ่งหมายใหม่ทางด้านไอที รวมไปถึงการขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างฝ่ายไอทีและส่วนอื่นๆ ที่เหลือขององค์กร"

นพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี กล่าวถึง ความพยายามของการปฏิรูปองค์กรไปสู่ความเป็นดิจิทัล พร้อมทั้งเผยผลการศึกษาองค์กรธุรกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและประเทศญี่ปุ่นของเดลล์อีเอ็มซีและอีเอสจีเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขาระบุว่า แม้การตอบรับของธุรกิจในการริเริ่มดำเนินการด้านการปฏิรูปไปสู่ดิจิทัลด้วยจะมีจำนวนท่วมท้นถึง 94% ทว่าครึ่งหนึ่ง ของผู้นำทางด้านไอที แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในองค์กรที่มีความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปมากที่สุด ยังคงถูกกันออกมาจากการมีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีจะสามารถทำงานได้มีอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็เมื่อวิสัยทัศน์ได้รับการกำหนดอย่างชัดเจนและเป็นที่เข้าใจโดยกว้างขวาง ทั้งในส่วนของรูปแบบของการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นในความเป็นจริงว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงเป้าหมายทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ”

ทั้งหมดนี้จะสามารถบรรลุความสำเร็จได้ผ่านการผสมผสานของการปรึกษา สนทนา การให้ความรู้ความเข้าใจ และการมอบอำนาจให้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องหลักๆ อย่างเต็มที่

หวั่นการเปลี่ยนแปลง

แม้จะมีทัศนคติในเชิงบวกต่อเทรนด์ในการปฏิรูปธุรกิจต่างๆ แต่ก็ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับการหวาดวิตกในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (C-suite) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันโดยสิ้นเชิง (disruption)

"พูดง่ายๆ ก็คือในโลกขององค์กรธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่น้อยมากที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ตรงไปตรงมา" นพดล กล่าว

บริบทดังกล่าว การมุ่งเน้นไปที่ไอทีจะเป็นเครื่องจักรที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างนวัตกรรมและการเติบโต ฟังก์ชั่นธุรกิจส่วนที่กำลังจะเริ่มเปิดตัวโครงการต่างๆ ด้านการปฏิรูปทางธุรกิจจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นล่วงหน้าถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และอะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

บ่อยครั้งที่การต่อต้านต่อการเปลี่ยนแปลงสามารถนำไปสู่ความระมัดระวังของผู้ไม่รู้ จากการที่ผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถประเมิน หรือใช้ประโยชน์ หรือให้การสนับสนุนบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจทั่วโลก องค์กรจำเป็นต้องวางรากฐานการสื่อสารที่เปิดกว้างและซื่อตรงระหว่างสายงานธุรกิจและสายงานด้านไอที เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการศึกษา หรือการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องถึงความต้องการใหม่ๆ ทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ต้องใช้เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว มากกว่านั้นองค์กรควรให้อำนาจโดยเท่าเทียมกันเพื่อการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายในระยะยาว

พลังดิจิทัลปูทางความสำเร็จ

โครงการต่างๆ ด้านไอทีและด้านการปฏิรูปไปสู่ดิจิทัล ไม่สามารถวางอยู่ในมือของทีมด้านไอทีเพียงทีมเดียวได้ ความต้องการการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากตัวของธุรกิจเอง แล้วค่อยพัฒนาไปสู่แผนงานที่สามารถดำเนินการได้

ทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นจากการประสานงานกัน ที่ซึ่งข้อเสนอแนะ ข้อมูลในเชิงลึก และการทำซ้ำต้องมาพร้อมกันเพื่อการสร้างมุมมองที่แข็งแกร่งว่าส่วนไหนคือส่วนที่ขาดหายไปในภาพของธุรกิจและอะไรคือสิ่งที่ควรเป็นในอนาคต ซึ่งการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งสองฝ่ายจะช่วยทำให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าปรากฎขึ้น พร้อมช่วยดึงความซับซ้อนและความไม่มีประสิทธิภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาสู่แสงสว่าง และทำให้ทีมงานด้านไอทีสามารถเข้าถึงหัวใจของปัญหาและกำหนดวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องได้

โดยต้องจำไว้ว่าการลงทุนในด้านการปฏิรูปไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่เมื่อเทคโนโลยีได้รับการนำไปใช้อย่างเหมาะสม ทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานอยู่บ่อยครั้ง

ขณะที่ สิ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันก็คือการที่ผู้จัดการในส่วนของสายธุรกิจต่างๆ (LoB managers) รู้สึกได้ถึงพลังในการใช้ทรัพยากรด้านดิจิทัลที่พร้อมใช้งานใหม่ๆ

ธุรกิจที่ฉับไว ทรงประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรกไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ซึ่งรวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

"เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดภายในองค์กรต้องร่วมมือกันเพื่อทำความเข้าใจสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นจะสามารถถูกออกแบบและบัญญัติใช้อย่างชาญฉลาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างไรได้บ้าง นี่คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้สามารถเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางพายุหมุนวิวัฒนาการและความก้าวหน้าที่มีอย่างต่อเนื่องที่ทำหน้าที่กำหนดภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่ไม่คาดฝันในปัจจุบัน" ผู้จัดการประจำประเทศไทยเดลล์ อีเอ็มซี ทิ้งท้าย