'อัยการ' ยังไม่ชี้ขาด 'คดีล้มบอลไทยลีก ดิวิชั่น 2'

'อัยการ' ยังไม่ชี้ขาด 'คดีล้มบอลไทยลีก ดิวิชั่น 2'

ลุ้น! อัยการสรุปความเห็น 2 อดีตเชิ้ตดำไทยลีก-ผู้บริหารสโมสรฟุตบอล คดีล้มบอล 30 เม.ย.นี้ หลังอัยการตรวจสำนวน 264 หน้าไม่เสร็จ

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.62 เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม 100 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายวิเชียร ถนอมพิชัย อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา พร้อมด้วย นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายรมย์ศักดิ์ ธรรมชัยเดชา เลขานุการสำนักงานอัยการคดีอาญา ร่วมแถลงการนัดสั่งคดีล้มบอลไทยลีก ดิวิชั่น 2 ซึ่งวันนี้เป็นการนัดสั่งคดีครั้งแรก ภายหลังที่อัยการได้รับสำนวนการสอบสวน จาก บช.น. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 โดยมีผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด รวม 3 คน ประกอบด้วย นายณฐกร ฉิมพาลี อดีตกรรมการผู้ตัดสินระดับไทยลีก 1 และอดีตสตาฟ์โค้ชทีมชาติไทย ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1 , นายเทิดศักดิ์ ทองกล่ำ อดีตกรรมการผู้ตัดสินระดับไทยลีก 2 ผู้ต้องหาที่ 2 , นายพงศ์พันธ์ วงศ์สุบรรณ อดีตผู้บริหารสโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่ง ผู้ต้องหาที่ 3

โดย นายประยุทธ รองโฆษกอัยการฯ กล่าวว่า วันนี้ คณะทำงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา 6 ได้แจ้งเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีไปก่อน เนื่องจากยังตรวจพิจารณาสำนวนพยานหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่เสร็จสิ้น โดยอัยการกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีครั้งต่อไปวันที่ 30 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

เมื่อถามว่า เท่าที่ได้ดูสำนวนคดี พยานหลักฐานถือว่าครบถ้วนแล้วหรือไม่ นายวิเชียร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากคณะทำงานว่าจะต้องสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ตนก็ได้กำชับคณะทำงานอัยการแล้วให้ทำคดีโดยรวดเร็วให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว เว้นแต่ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม ก็อาจต้องเลื่อนไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีกล่าวหาการล้มบอลดังกล่าว นายณฐกร ฉิมพาลี ผู้ต้องหาที่ 1 และนายเทิดศักดิ์ ทองกล่ำ ที่ 2 ถูกกล่าวว่า กระทำความผิดฐานเป็นผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 มาตรา 66

ส่วน นายพงศ์พันธ์ วงศ์สุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 3 ถูกกล่าวว่า เป็นผู้ใช้ ให้ผู้อื่นติดต่อผู้ตัดสินเพื่อขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอลทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 มาตรา 66 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84

ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่หากผู้กระทำผิดเป็นผู้ตัดสิน จะระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 300,000 - 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสำนวนการสอบสวนคดีนี้ มีความหนา 264 หน้า