ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นรายย่อยมากขึ้น

ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นรายย่อยมากขึ้น

ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นรายย่อยมากขึ้น การโอนทรัพย์สินจะทำได้เมื่อได้รับเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น 3 ใน 4 พร้อมกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของกรรมการวาระละไม่เกิน 3 ปี ชี้เสนอ สนช.ไม่ทันในรัฐบาลนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด 2535

โดยสาระสำคัญคือเป็นการเพิ่มเติมสิทธิพื้นฐานของผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นได้อย่างแท้จริง กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการให้มีความโปร่งใสโดยใช้หลักธรรมาภิบาลกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การห้ามไม่ให้ถือหุ้นไขว้ในบริษัท เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบบริษัท และกำหนดเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทเอกชนเพื่อให้การดำเนินการของบริษัทมหาชนจำกัดมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการประกอบธุรกิจอันเป็นการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจ (Ease of Doing Business) และส่งผลต่อการประเมินจัดอันดับเรื่องความยาก – ง่าย ในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก ส่วนการโอนหรือรับโอนทรัพย์สิน หรือการกระทำใดๆ ที่กระทบต่อกิจการบริษัท จะทำได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเห็นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุม

ขณะเดียวกันยังกำหนดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการของกรรมการ โดยกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของกรรมการวาระละไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดวาระ และคุณสมบัติของกรรมการต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ พร้อมทั้งให้กรรมการอาจประชุมโดยการติดต่อสื่อสารด้วยระบบการต่อต่อสื่อสารทางเทคโนโลยี โดยที่ไม่ต้องปรากฏตัวในที่ประชุมได้ และกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการให้มีความโปร่งใส เช่น การห้ามไม่ให้ถือหุ้นไขว้ในบริษัท เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

นายณัฐพรกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้แม้จะผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วยังไม่สามารถเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันเนื่องจาก สนช.หยุดรับพิจารณากฎหมายตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของ สนช.ได้ทันจึงจะไม่สามารถใช้ได้ทันในรัฐบาลนี้