‘ดีจีเอ’ ชู พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล นวัตกรรมพลิกโฉมบริการประชาชน

‘ดีจีเอ’ ชู พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล นวัตกรรมพลิกโฉมบริการประชาชน

ดีจีเอ จัดทัพเตรียมพร้อมบุคลากร-แนวทางทำงาน เดินหน้าดึงหน่วยงานภาครัฐเร่งปฏิรูประบบงานตอบรับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล หวังใช้นวัตกรรมยกระดับบริการประชาชนสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ท่ามกลางอิทธิพลพายุดิจิทัลโหมพัดไปทุกอาณาบริเวณ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยที่ภาครัฐมีความพยายามปรับเปลี่ยนบทบาทให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายไปสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ในไทยมี“สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)” หรือ สพร.ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล มีภารกิจให้บริการ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะ

เร่งวางกำลังคน-งบประมาณ

ทันทีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. .....” และลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งลำดับต่อไปเป็นขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือดีจีเอ กล่าวว่า ดีจีเอ ได้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังคน และงบประมาณในการเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจต่อหน่วยงานภาครัฐที่ต้องปรับเปลียนการให้บริการประชาชน ตามเจตนารมณ์ของ พ.รบ.ฉบับนี้

การใช้กฎหมาย นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบการบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเกิดผลสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ประเทศเอสโตเนีย เกาหลีใต้ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. .... โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ร่วมกับดีจีเอ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี และสำนักงาน ก.พ.ร.ที่ร่วมผลักดันต่อจาก สปท. ในชั้นการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้แก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติใหม่เป็น“ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. .....”

สาระสำคัญ คือ 1.กำหนดให้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 2. กำหนดให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เพื่อเป็นกรอบการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ 3.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทำข้อมูลและบริการรูปแบบดิจิทัล (Digitization) อำนวยความสะดวกให้บริการประชาชน 4. กำหนดให้หน่วยงานรัฐแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) และ 5.กำหนดให้หน่วยงานรัฐเปิดข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data)ให้ประชาชนเข้าถึง และนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอด พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ได้

สู่บริการ One Stop Service

“เมื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบดิจิทัล กำหนดแนวทางพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐ จัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยมีดีจีเอ เป็นกลไกสำคัญสนับสนุนคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้"

พ.ร.บ.ฯ นี้จะช่วยให้การทำงานในหน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพขึ้น โดยกำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลและทะเบียนดิจิทัล ให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องร้องขอสำเนาเอกสารจากประชาชน สามารถร้องขอข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลได้ผ่านศูนย์ฯ ช่วยลดกระบวนงาน ลดการใช้กระดาษ ทั้งช่วยลดเวลา ลดภาระค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มากขึ้น

การเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ได้ เช่น การเปิดร้านอาหารมีประมาณ 10 หน่วยงานที่ต้องให้ใบอนุญาตในการเปิดร้านอาหาร หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้จะถูกเขียนไว้ในแผนว่าต้องมาทำงานร่วมกัน ต้องลดแบบฟอร์มลงให้เหลือฟอร์มเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

“การทำงานรัฐบาลดิจิทัลจะไม่ต่างคนต่างทำอีกแล้ว เพราะกฎหมายบังคับใช้ให้ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน”

รวมไปถึงหน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลในการทำงานและกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล ต้องให้มีช่องทางการชำระเงินดิจิทัลและระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล แบบครบวงจร ทั้ง Digitization, Digital Process, Digital Payment และ Digital ID และต้องทำ Security และ Capacity Building ทั้งหมดจะถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลว่าหน่วยงานไหนสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อนหรือหลังตามลำดับ

ประชาชนได้ประโยชน์

“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเรื่องของข้อมูลทั้งสิ้น จึงต้องมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เป็นกรอบกำกับดูแลข้อมูล ในกฎหมายนี้มีกรอบที่เรียกว่า การกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance Framework) เพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูล ให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายศักดิ์ กล่าว

ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับจากการมี พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลฉบับนี้ คือ 1.ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการของหน่วยงานภาครัฐ 2.ลดภาระทางด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และการจัดเตรียมเอกสารของประชาชนในการติดต่อราชการ 3.มีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐได้โดยสะดวก 4.ประชาชนสามารถนำข้อมูลของหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ข้อมูลลับหรือข้อมูลส่วนบุคคลไปพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม 5.ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคงและปลอดภัย