JMT 'ดาวเด่น' JMART ปีนี้พลิก เทิร์นอะราวด์

JMT 'ดาวเด่น' JMART ปีนี้พลิก เทิร์นอะราวด์

'เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส' กิจการทำเงินนัมเบอร์วันของ 'กลุ่มเจ มาร์ท' แม่ทัพใหญ่ 'อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' ยืนยันเช่นนั้น !! พร้อมเปิดยุทธศาสตร์ปีนี้สร้างการเติบโตทุกธุรกิจ ผลักดันฐานะการเงินพลิก 'เทิร์นอะราวด์'

หลังประกาศผลประกอบการปี 2561 พลิกเป็น 'ขาดทุนสุทธิ' จำนวน 277 ล้านบาท ของ บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART ผู้ประกอบการโฮลดิ้ง คอมพานี หรือประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่น โดยมีธุรกิจหลักของบริษัทแกนคือ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ สร้างความผิดหวังให้เหล่าแฟนคลับ !! 

ตลอดปีที่ผ่านมา บริษัทผิดพลาดในธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จํากัด จากความหวังว่ายอดขาย 'ไอโฟน' จะมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นตัวที่บริษัทต้องแบกต้นทุนดังกล่าว ซึ่งธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เสริม ถือเป็นธุรกิจแกนหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 'ราว 70-80%' และได้รับผลกระทบจาการแข่งขันสูงขึ้น

สะท้อนผ่านยอดขายปี 2561 มีมูลค่า 9,202 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจำหน่ายมือถือได้จำนวน 1.07 ล้านเครื่อง ลดลงจากปีก่อน โดยมีราคาขายเฉลี่ยเท่ากับ 7,960 บาทต่อเครื่อง ซึ่งในปี 2562 บริษัทจะลดสัดส่วนธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เหลือแค่ '10-20%' 

'ในปีก่อนจากความหวังว่าเราจะมียอดขายไอโฟนมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าไอโฟนกลับเป็นสินค้าที่เราต้องแบกรับต้นทุนไว้สูง ขณะที่สินค้าซัมซุงก็ไม่ได้มียอดขายเป็นดังที่หวังไว้ ซึ่งเรามีการตั้งสำรองไว้หมดแล้ว' 

ขณะที่ 'ธุรกิจกล้องถ่ายรูป' ตั้งแต่ปลายปี 2561 เริ่มมีการเติบโตลดลง โดยบริษัททำการปิด 'ร้าน Jaycamera' เพื่อไม่ให้มาเป็นตัวถ่วง โดยบริษัทจะกลับมาเน้นสร้างยอดขายธุรกิจจำหน่ายมือถือเป็นหลัก และพัฒนาช่องการการขายในธุรกิจจำหน่ายมือถือ

ส่วนธุรกิจการเงิน และสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัท เจ ฟินเทค จํากัด (JFintech) ประกอบธุรกิจหลักในการปล่อยสินเชื่อภายใต้แบรนด์ 'J Money' ในปี 2561 มีผลประกอบการที่ขาดทุน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้

และ ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าพร้อมการให้บริการเช่าซื้อ ในปี 2561 บมจ. ซิงเกอร์ ประเทศไทย หรือ SINGER ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าด้วยแบรนด์ SINGER พร้อมการให้บริการเช่าซื้อ มีผลการดำเนินงานที่ลดลงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพ

'ยอมรับว่าปี 2561 เราเพลี่ยงพล้ำในธุรกิจจำหน่ายมือถือ สินเชื่อส่วนบุคคล และจัดจำหน่ายสินค้าพร้อมให้เช่าซื้อ' ประโยคเด็ดของ 'ตุ้ม-อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART

ตลอดปี 2562 ภาพรวมธุรกิจในเครือเจ มาร์ท จะเห็นการกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' ในแง่ของกำไรและ 'ทำสถิติสูงสุด' (New High) จากในอดีต จากผลประกอบการของบริษัทย่อย และบริษัทร่วมที่ลงทุนที่ธุรกิจกลับมาเป็นกำไรทั้งหมด โดยมี บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT โดย JMART ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 55.81% ขึ้นแท่น 'พระเอกทำเงินของกลุ่ม' หลังฐานะการเงินมีความแข็งแกร่งสามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นโอกาสที่จะเห็นตัวเลขมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องยาก

'JMT จะเป็นฐานของกำไรในปีนี้ที่สำคัญ ประกอบกับ การพลิกฟื้นของผลประกอบการในธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล จะเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นผลจากการเข้าไปปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ในธุรกิจที่มีปัญหาการปรับลดต้นทุน และ การสร้าง Synergy ภายในกลุ่ม ประกอบกับ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานให้มากขึ้น' 

'สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมของ JMT ในปีนี้ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพจะสามารถทำ “สถิติสูงสุด” ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายเติบโต 'ไม่ต่ำกว่า50%' ทั้งรายได้และกำไร จากความสามารถในการจัดเก็บหนี้ได้ดี และ มีกองหนี้ที่จะตัดมูลค่าเงินลงทุนครบ 100% สนับสนุนการรับรู้รายได้และกำไรได้เต็มที่

นอกจากนี้ ยังตั้งงบลงทุนมากถึง 4,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ทั้งที่มีหลักประกัน และ ไม่มีหลักประกัน จากสิ้นปี 61 พอร์ตบริหารหนี้รวมอยู่ที่ 145,000 ล้านบาท สิ้นปี 60 พอร์ตบริหารหนี้รวมอยู่ที่กว่า 125,000 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจประกันภัยภายใต้การบริหารของ บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดย JMT ถือหุ้นในสัดส่วน 55% คาดผลงานปีนี้เสริมกำไรให้บริษัทได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

'ปีก่อนเรามีมูลหนี้ 24,529 ล้านบาท โดยถือว่าเป็นกองที่ใหญ่ของปีที่ผ่านมา และ เราจะเร่งตัดหนี้ 1 กอง มูลหนี้ประมาณ 6 พันล้านบาท ให้จบภายในไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งจะทำให้ไตรมาส 3-4 ปี 2562 JMT จะเหินขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตอนนี้เราเหมือนเครื่องบินที่จะออกตัว และ กำลังจะไปสู่จุด Take off แล้ว'

ด้าน บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ธุรกิจจัดจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม 'ดุสิต สุขุมวิทยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าให้ฟังว่า ปี 2562 บริษัทวางกลยุทธ์ตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่องจากแผนทางการตลาด การบริหารช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายผ่านการ Synergy ของกลุ่มเจมาร์ทเพื่อลดต้นทุน และ เพิ่มมาร์จิ้น รวมถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ การบริหารผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ

โดยบริษัทจะมุ่งเน้นธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และ ปัจจัยสนับสนุนจากการเป็นพันธมิตรแบบ Exclusive Partnership กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ในการจัดจำหน่าย SIM และ แพ็กเกจ จะทำให้ สามารถจัดจำหน่ายมือถือที่มีโปรโมชั่นส่วนลดค่าเครื่องที่แข่งขันได้ และ มีรายได้เพิ่มจากส่วนแบ่งรายได้ ตั้งเป้าปีนี้จะจำหน่ายซิมเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200,000 ซิม

'สุพจน์ วรรณา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J เล่าให้ฟังว่า สำหรับปีนี้ตั้งเป้าหมายจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากที่ลงทุนไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะเสร็จสิ้น และ จะมีการทยอยโอนคอนโดมิเนียม Newera บางส่วนในปี 2562 และ ต่อเนื่องในปี 2563 พร้อมทั้ง หาช่องทางการขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เพิ่มเติมอีก

โดยได้มีแผนชัดเจนในการสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีรูปแบบคอนเซ็ปต์ เน้นลงทุนไม่สูงมากและได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี นอกจากนี้ ได้ปรับรูปแบบของศูนย์การค้าให้ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าให้เหมาะสมกับการแข่งขัน

'ภาพของเราทุกอย่างเคลียร์ขึ้น และเราจะกลับมามุ่งเน้นการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจกาแฟ ที่ปีนี้จะมีการขยายสาขาร้านคาซ่า ลาแปง จำนวน 4-6 สาขา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า และเพื่อขายยังมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง'

'กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER บอกว่า บริษัทตั้งเป้าหมายธุรกิจจะกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุนแล้วทำให้ ปี 2562 จะเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าผลักดันธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเติบโต 'เท่าตัว' หรือ ปล่อยสินเชื่อราว 2,500 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนรายได้จาก สินเชื่อรถทำเงิน และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 70% ส่วนยอดขายจากธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะลดเหลือ 30%

'กิติพัฒน์ ชลวุฒิ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้แบรนด์ “J Money” เล่าให้ฟังว่า คาดว่าแนวโน้มธุรกิจปีนี้มีทิศทางสดใส และคาดจะพลิกกลับมาเป็น 'กำไร' หลังจากการคัดกรองคุณภาพลูกค้าดีขึ้น มีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวดรัดกุม ปีนี้ตั้งเป้าที่จะพลิกมีกำไรได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/62 โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 1,500 ล้านบาท และ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่ 5,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 61 ที่อยู่ 4,028 ล้านบาท

'ธุรกิจเก็บหนี้ปีนี้คาดว่าทำได้ 60 ล้านบาท จากปีก่อน 12 ล้านบาท และ คาดว่าการตั้งสำรองในปีนี้จะลดลง เพราะเราตั้งสูงไปแล้วในไตรมาส 3-4/61 ส่งผลให้เราขาดทุนในปีก่อน แต่ปีนี้เราเชื่อว่าธุรกิจเก็บหนี้จะดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กำไร และ รายได้ปีนี้ดีขึ้น'

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนเงินทุน และความรู้ โดยบรษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เ และเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)ปลายปี 2563

และ 'ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งออกดิจิทัล โทเคน 'JFIN Coin' ได้นำ JFIN Coin เข้าเทรดในตลาด Satang Pro และได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่นำ JFIN Coin ใช้ในการประมูลสินค้าผ่านโมบายแอพพลิเคชัน VFIN ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้นำเอาของสุดเอ็กซ์คลูซีฟจากเหล่าไอดอลมาร่วมประมูลในงาน Idol Expo 2019 ที่ผ่านมา และบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนนำ JFIN Coin มาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ส่วนแผนการพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Digital Lending Platform: DDLP)ของบริษัทคาดจะแล้วเสร็จ และเริ่มนำระบบบล็อกเชนมาใช้ได้ตามแผนเดิม หรือ ก่อนวันที่ 1 ต.ค. นี้ และ คาดว่าเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2562 ภายหลังระบบได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์

ท้ายสุด 'อดิศักดิ์' ฝากไว้ว่า ปีนี้ธุรกิจของกลุ่ม เจ มาร์ท คาดว่าพลิกมีกำไรและทำสถิติสูงสุด หลังธุรกิจในกลุ่มเริ่มดีขึ้น นำโดย JMT ที่ธุรกิจบริหารหนี้ไปได้สวย เจ ฟินเทค พลิกมีกำไรไตรมาส 1 ปี 2562 ส่วน SINGER จะเทิร์นอะราวด์ และ เจเอเอส แอสเซ็ท เก็บเกี่ยวรายได้ทยอยโอนคอนโดมิเนียม