สหภาพรฟท. จี้ยกเลิกประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน

สหภาพรฟท. จี้ยกเลิกประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ออกแถลงการณ์ทบทวนประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน มูลค่า 2 แสนล้าน หวั่นนายทุนผูกขาด

แถลงการณ์แรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ขอให้ทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)เอื้อเอกชนกลุ่มทุนผูกขาด
และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ต้องรักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ประชาชน

สืบเนื่องจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มีประกาศ คสช.หลายฉบับเพื่อเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี และต่อมาได้มีการออก“พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.๒๕๖๑” เพื่อสนับสนุนโครงการนี้จึงได้กำหนดให้มีการจัดสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยมีระยะทาง ระยะทาง ๒๒๐ กม.มูลค่าโครงการ ๒๒๔,๕๔๔.๓๖ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ ๑.๔๐ ชม. ราคาค่าโดยสาร ๔๗๖ บาทผู้รับผิดชอบโครงการคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)โดยโครงการดังกล่าวได้มีการเริ่มดำเนินการเปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าประมูลโครงการในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ประมูลกันเมื่อปลายปี ๒๕๖๑ เบื้องต้นมีผู้ซื้อซองประมูลราคาสนใจซื้อเอกสารการคัดเลือกจำนวน ๓๑ ราย และต่อมามีผู้ยื่นซองข้อเสนอราคาประมูลโครงการเพียง ๒ ราย คือ กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งปรากฏตอนหลังว่าทั้ง ๓๑ รายที่สนใจซื้อเอกสารการคัดเลือกได้ไปมีรายชื่อในสองกลุ่มที่ยื่นซองข้อเสนอราคาประมูล ซึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อสาธารณะว่าเป็นการ “ฮั้ว”กันหรือไม่

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ผู้ที่ชนะการประมูลโครงการ คือกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด โดยเป็นผู้เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดในราคา ๑๑๗,๒๒๗ ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ ที่เสนอขอรับอุดหนุน ๑๖๙,๙๓๔ ล้านบาท ถึง ๕๒,๗๐๗ ล้านบาทสิทธิประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับจากการเข้าดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน คือ ๑.บริหารรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน ๒.ได้สัมปทานบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีฐานคนใช้กว่า ๘ หมื่นคนต่อวัน ๓.ได้สัมปทานในการครอบครองพื้นที่มักกะสัน ๑๐๐ ไร่ และพื้นที่รอบสถานีศรีราชา ๒๕ ไร่เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ ๔.รับมอบพื้นที่มักกะสันอีก ๕๐ ไร่ที่อยู่ติดกับโรงซ่อมบำรุงรถไฟและพื้นที่เวนคืนอื่นๆ ให้กับเอกชนภายใน ๕ ปี และ ๕.โอกาสในการเดินรถต่อเฟส ๒ ช่วงอู่ตะเภา-ตราด

จากวันที่ชนะการประมูลจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ได้มีการนัดเจรจาอีกครั้งหนึ่ง แต่ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์จำกัด ได้แจ้งขอเลื่อนการเจรจาไปเป็นวันที่ 13 มีนาคม 2562 ด้วยเหตุที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ได้ยื่นข้อเสนอซอง ๔ (ข้อเสนออื่นๆ) ๑๐๘ ข้อ ถูกปัดตก ๑๒ ข้อ เช่น
- ลดสัดส่วนหุ่น ซีพี จาก 70% เหลือ 5%
- ให้ ธปท.ขยายเพดานเงินกู้ ซีพี
- รัฐค้ำประกัน ร.ฟ.ท. หากมีปัญหารัฐหาเงินกู้
- ขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปีดอกเบี้ยต่ำ 4%
- ห้าม ร.ฟ.ท.เดินรถแข่งกับเอกชน
- รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีที่ 1 จากเดิม อุดหนุนปีที่ 6
- รัฐชดเชยหากอู่ตะเภาล่าช้า
- จ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสัน ศรีราชา 5.2 หมื่นล้านเมื่อมีผลตอบแทน
- ผ่อนชำระแอร์พอร์ตลิงค์ 11 ปี ดอกเบี้ย 3% จากต้องจ่ายก่อนรับสิทธิเดินรถ
- รัฐการันตีผลตอบแทน 6.75%
-เปลี่ยนแบบจากยกระดับเป็นทางราบ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)นอกเหนือจากการให้ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพองค์กรคือการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)แล้วเหนืออื่นใดซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำมาโดยตลอดคือปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพยายามที่จะไม่ไปขัดขวางใดๆนอกจากการให้ความเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลเป็นระยะๆร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกันเพราะเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนที่สูงซึ่งจะเกี่ยวข้องกับฐานะการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

จนถึงปัจจุบันซึ่งความเป็นจริงผู้ที่ชนะการประมูลย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขเพราะย่อมรู้อยู่แล้วการเสนอราคาในการประมูลจนชนะคู่ประมูลว่าจะทำได้หรือไม่ได้“เว้นไว้แต่ว่าจะไม่ทำรถไฟความเร็วสูงแต่หวังประโยชน์ด้านอื่นมากกว่า การต่อรองในเรื่องรายละเอียดที่ใช้เวลาในการเจรจายืดเยื้อมานาน”แม้ว่า ทีโออาร์จะให้สามารถเจรจาได้แต่ต้องเจรจาในรายละเอียดปลีกย่อย“ไม่ใช่เจรจาในสาระสำคัญที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์”ซึ่งจากการดูข้อเสนอเป็นการเจรจาที่ทำลายหลักการสำคัญอันจะทำให้ประเทศชาติ ประชาชนเสียประโยชน์ จึงขอให้ผู้มีหน้าที่ในการเจรจาระมัดระวังเพราะอาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยเหตุไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้รัฐเสียหายได้

จากเหตุปัจจัยต่างๆดังที่กล่าวมาทาง สร.รฟท.จึงมีความเห็นและข้อเสนอดังนี้
๑.ข้อเสนอของผู้ชนะการประมูลเป็นข้อเสนอที่ทำลายหลักการและสาระสำคัญของโครงการ การรถไฟฯไม่ควรรับข้อเสนอที่สูงจากผู้ชนะการประมูลเพราะจะทำให้การรถไฟฯ และรัฐเสียหาย
๒.ขอให้รัฐทบทวนโครงการโดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้นเพราะที่สุดแล้วผลกระทบทั้งด้านบวกและลบย่อมเป็นภาระผูกพันกับประเทศชาติในอนาคตและโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่แต่ยังไม่ผ่านการจัดทำเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)
๓.เห็นสมควรให้รัฐดำเนินโครงการเองภายใต้การบริหารจัดการของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)และบริษัทรถไฟฟ้า รฟท.จำกัด(แอร์พอร์ตเรลลิงค์)โดยงบประมาณมาจากการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ แล้วนำรายได้มาลงทุนในโครงการดังกล่าวซึ่งจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินและการก่อหนี้สาธารณะซึ่งปัจจุบันมีจำนวนที่สูงมากแล้ว
๔.โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยปัจจุบันมีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งล้วนแต่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เป็นการทำลายวิถีชีวิต ระบบเกษตร ระบบนิเวศน์ของพื้นที่โครงการ ประกอบกับ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.๒๕๖๑ มีหลายมาตราที่จะส่งผลเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จึงเห็นควรให้ชะลอและทบทวนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกทั้งระบบ โดยการมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจของประชาชนในทุกขั้นตอน และเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มิได้มุ่งหวังเพื่อขัดขวางการพัฒนาประเทศ เพียงแต่มีเจตนาที่ดีต้องการให้มีความรอบคอบ มีความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ ต้องเริ่มมาจากการมีส่วนร่วมในการเสนอรับข้อคิดเห็นและร่วมตัดสินใจในประเทศไทย รัฐธรรมนูญและ กฎหมายหลายฉบับ นโยบายของรัฐบาลที่ย้ำพูดย้ำประกาศถึงเรื่องธรรมาภิบาล อันจะนำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งหวังว่าข้อคิดเห็นข้อเสนอข้างต้นจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน คนรถไฟ ที่รักความเป็นธรรมต้องการเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปบนพื้นฐานของความร่วมมือ การมีส่วนร่วม มีความรู้ มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุมีผล มีความยั่งยืน มีความสุขตามแนว “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ของ“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะต้องร่วมมือสามัคคีกันเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศชาติให้ถาวรสืบไป ด้วยพลังของพวกเรา ประชาชน
“ไม่ขัดขวางการพัฒนา แต่ การพัฒนาต้องไม่ฆ่าคน และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนอย่างแท้จริง”

๖ มีนาคม ๒๕๖๒
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD)
สมาพันธ์คนงานรถไฟ(สพ.รฟ.)
ประชาคมคัดค้านการเช่าที่ดินมักกะสัน
ศูนย์ศึกษาพลเมืองภิวัฒน์
สถาบันสังคมประชาธิปไตย
เครือข่ายเพื่อนศิลปิน

สหภาพรฟท. จี้ยกเลิกประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน

สหภาพรฟท. จี้ยกเลิกประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน

สหภาพรฟท. จี้ยกเลิกประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน