วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (4 มี.ค.62)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (4 มี.ค.62)

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลด จากความกังวลต่อการเติบโตของอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง

- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ เผยดัชนีภาคการผลิตของประเทศ (ISM Manufacturing Activity Index) ประจำเดือน ก.พ. 62 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอุปทานที่ขาดหายไปจากกลุ่มโอเปค เวเนซุเอลาและอิหร่าน อาจไม่เพียงพอที่จะปรับสมดุลตลาดน้ำมันดิบในภาวะที่การขยายตัวอุปสงค์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

- สำนักข่าว Reuters คาดการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในปีนี้ปรับลดลง หลังยอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากจีนและเกาหลีใต้ปรับลด จากผลของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

- แคนาดาปรับเพิ่มโควตาปริมาณน้ำมันดิบที่กลุ่มผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตได้ในเดือน เม.ย. 62 ขึ้นราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน ม.ค. 62 สู่ระดับ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังแคนาดาเริ่มปรับตัวลดลง ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบแคนาดาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว

+ Reuters เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตโอเปคในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 30.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับลดลงจากปริมาณการผลิตในเดือน ม.ค. 62 ราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน และเป็นปริมาณต่ำสุดตั้งแต่ปี 2558

+ Bager Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 มี.ค. 62 ปรับลดลง 10 แท่น มาอยู่ที่ 843 แท่น ซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 61

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสิงคโปร์ปรับลดลง ประกอบกับ โรงกลั่นในอินเดียประกาศปิดหน่วยกลั่นเพื่อทำการปิดซ่อมบำรุงประจำปีและเตรียมผลิตน้ำมันตามมาตราฐาน Bharat 6

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความคาดหวังว่าอุปทานของน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียจะปรับลดลงในช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

        ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 54-59 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

        ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบน้อยลง เนื่องจาก ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคปรับตัวลดลง ประกอบกับ โรงกลั่นในสหรัฐฯ บางส่วนเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันดิบเพื่อไปกลั่นมากขึ้น
  • จับตาการหารือกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เพื่อยุติปัญหาสงครามการค้าในช่วงปลายเดือนมี.ค. 62 หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนออกไปจากผลบังคับใช้เดิมในวันที่ 1 มี.ค. 62 ซึ่งหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยุติลง จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก รัฐบาลลิเบียตกลงกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ที่จะให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara ซึ่งมีกำลังการผลิต 315,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังถูกปิดตั้งแต่เดือนธ.ค. 61

------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999