ชป.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด

ชป.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด

ชป.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด แม้น้ำจะพอใช้ แต่ต้องสำรองไว้ในอนาคตด้วย

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.62 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(1 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 50,687 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 26,758 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,603 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,907 ล้าน ลบ.ม.

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(1 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 80 ลบ.ม./วินาทีรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 256 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนปริมาณค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำสำแล วัดได้ 0.15 กรัม/ลิตร และแม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.13 กรัม/ลิตร ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และสามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ วางแผนจัดสรรน้ำไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน ทั่วประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำ(1 พ.ย. 61 – 30 เม.ย. 62)รวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 61/62 ล่าสุด(1 มี.ค. 62)มีการใช้น้ำไปแล้วทั้งประเทศ 14,366 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,089 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนฯ

ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ที่จะต้องมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด โดยจะเน้นสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำระหว่างร้อยละ 30-60 ของความจุอ่างฯ มีจำนวน 17 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนสิรินธร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนบางพระ ซึ่งสามารถสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาต่อเนื่อง(นารอบที่ 3) เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน หากเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น นั้น กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมจัดทำแผนร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไว้ประจำในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ รวมกว่า 4,850 หน่วย ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา