วิชั่น 5จี ‘หัวเว่ย’ บนความท้าทาย ‘ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้’

วิชั่น 5จี ‘หัวเว่ย’  บนความท้าทาย ‘ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้’

เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ “ยุค 5จี” เป็นมากกว่าแค่การยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี หรือ เพิ่มความเร็ว

เส้นทางธุรกิจของยักษ์เทคโนโลยีโทรคมนาคมสัญชาติจีน “หัวเว่ย” จึงต้องมีหลากหลายบททดสอบเข้ามาท้าทาย หนึ่งในนั้นคือ “ซิเคียวริตี้” ประเด็นร้อนแรงที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลก

นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า ขณะนี้หัวเว่ยอยู่ในตำแหน่งผู้นำในสนาม 5จี ระดับโลก ทั้งเป็นบริษัทแรกที่สามารถนำเทคโนโลยี 5จี มาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

จุดแข็งที่สำคัญ คือความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่นที่เรียบง่ายมากที่สุด ทว่าให้ประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง และที่ขาดไม่ได้คือมีความปลอดภัย

ที่ผ่านมา พบว่ายิ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ยิ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเดินไปข้างหน้าได้ตามเป้าหมายที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เรียบง่ายที่สุด เป็น 5จี ที่มีความชาญฉลาดมากที่สุดแก่ผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลก

นายผิงมีมุมมองว่า งานสำคัญอย่างการสร้างสภาพแวดล้อมทางไซเบอร์ที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน จำเป็นต้องมีมาตรฐาน กฏระเบียบที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน ส่วนการสร้างระบบที่เชื่อถือได้ทุกฝ่ายจำต้องมีความรับผิดชอบ มาตรฐาน และกฏระเบียบที่ชัดเจน

ในความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการเทคโนโลยี ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อุตสาหกรรม และภาครัฐผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล

“ผมหวังว่าจะได้เห็นอุตสาหกรรมและภาครัฐ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่จะสามารถใช้ร่วมกันได้ ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อเสนอแนะที่ว่ารัฐบาลและผู้ให้บริการเครือข่ายต้องทำงานร่วมกัน”

ฝ่าบททดสอบ ’ซิเคียวริตี้’

ผู้บริหารหัวเว่ยกล่าวว่า ขณะนี้โซลูชั่น 5จีของหัวเว่ยเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว อีกทางหนึ่งเกิดคำถามขึ้นจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยบนไซเบอร์ เรื่องนี้ขอย้ำถึงจุดยืนของบริษัทอีกครั้งว่า หัวเว่ยให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดของการพัฒนานวัตกรรม แน่นอนว่ารวมไปถึงซิเคียวริตี้ด้วย

ปีที่ผ่านมาบริษัทใช้งบประมาณการลงทุนสำหรับวิจัยและพัฒนาไปมากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รั้งอันดับ 5 ของโลก ผลที่ได้จากการลงทุนไม่หยุดคือ ความสามารถในการให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบริการบน 5จี

ทิศทางธุรกิจของหัวเว่ย มุ่งนำเสนอเทคโนโลยี 5 จีที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว และชาญฉลาดยิ่งกว่าคู่แข่ง “safer, faster, smarter” บริษัทตระหนักเป็นอย่างดีว่า "ซิเคียวริตี้"

เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ควบคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรม

เขากล่าวต่อว่า ซิเคียวริตี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจนำเรื่องการเมืองมาบริหารจัดการ เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีหัวเว่ยมุ่งทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ มีความปลอดภัยมากที่สุด ส่วนหนึ่งได้นำประสบการณ์จากการพัฒนา 4จี มาปรับใช้ จนวันนี้กล้าที่จะกล่าวว่า 5จี มีความปลอดภัยมากกว่า 4 จี เสียอีก

พร้อมระบุว่า หัวเว่ยไม่ใช่ผู้บริหารจัดการเน็ตเวิร์ค ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูลลูกค้า บริษัทมีความรับผิดชอบมากพอที่จะไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย และจะไม่ยอมให้ใครมาทำเช่นเดียวกัน ดังนั้นโปรดเลือกใช้หัวเว่ยหากต้องการความปลอดภัยที่ดีกว่า

ท้าทายยุคใหม่ ‘การสื่อสาร’

หัวเว่ยเผยว่า วางกลยุทธ์การติดตั้ง 5จี ที่ไม่ซับซ้อน โดยมีแนวคิดว่าความเรียบง่ายของระบบเครือข่าย ระบบอัตโนมัติ และธุรกิจจะเป็นทิศทางการพัฒนาของเครือข่ายเคลื่อนที่ในอนาคต แม้ว่าขณะนี้ระบบนิเวศของ 5จี ยังไม่มีความพร้อมเต็มที่ ทว่ามีแนวโน้มว่าจะมีการพัฒนาการที่เร็วกว่ายุค 3จี หรือ 4จี หลายเท่า

ข้อมูลระบุว่า จำนวนของผู้ใช้งาน 3จี และ 4จี ทั่วโลกมีจำนวน 500 ล้านคนภายในเวลา 10 ปี และ 5 ปีตามลำดับ ทว่าสำหรับ 5จี คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ในอนาคต 5จี จะช่วยให้ทุกๆ อุตสาหกรรมกลายเป็นระบบดิจิทัล โอเปอเรเตอร์มีช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน หัวเว่ยทำงานร่วมกับพันธมิตรกว่า 280 รายทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้มีการนำ 5จีไปใช้งานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ขอบข่ายความร่วมมือรวมไปถึงค้นคว้าเกี่ยวกับไอโอที โดรนที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต สมาร์ทแมนูแฟคเทอริ่งผ่านเอ็กซ์แลปส์ และบริการบนดิจิทัลต่างๆ ฯลฯ

จีเอสเอ็มเอคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะมีผู้ใช้งาน 5จี ประมาณ 1.3 พันล้านคนทั่วโลก อุปกรณ์มือถือระบบ 5จี ราว 1.36 พันล้านเครื่อง เครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 40% สำหรับการสร้างเครือข่าย 5จี นั้น สิ่งที่ควรมีคือการเตรียมเครือข่ายการรับส่งข้อมูลไว้ล่วงหน้า

โดยเครือข่าย 5จี มีกรณีใช้งานสำคัญๆ 3 ประการด้วยกัน คือ แบนด์วิธสูงกว่าเดิม 10 เท่า มีความซับซ้อนในการดำเนินงานและการซ่อมบำรุง(O&M) เครือข่ายมากกว่าเดิม 10 เท่า และมีการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า ทั้งหมดนี้คือความท้าทายหลักที่ผู้ให้บริการต้องพบเมื่อสร้างเครือข่ายการรับส่งข้อมูล 5จี ในอนาคต

มุ่ง ‘ดิจิทัล แพลตฟอร์ม’

หัวเว่ยระบุว่า สิ่งที่โฟกัสไม่เพียงการพัฒนา 5จี เท่านั้น แต่ยังมุ่งสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลอีโคซิสเต็มส์ ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ในงาน “โมบาย เวิลด์ คองเกรส 2019” กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ของหัวเว่ย “หัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์” ได้เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก พร้อมนำ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” สำหรับการใช้งานในหลากหลายมิติมาร่วมเปิดตัว

นายเหยียน ลี่ต้า ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาโซลูชั่นจะสอดคล้องไปกับเมกะเทรนด์ของยุคที่มุ่งสู่การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นซึ่งมีเทคโนโลยี “คลาวด์” เป็นพื้นฐานสำหรับทุกอย่าง

ขณะเดียวกัน มีการต่อยอดและนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรม ผสมผสานการใช้งานเทคโนโลยีไอซีทียุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 5จี บิ๊กดาต้า ไอโอที หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การสื่อสารแบบผนวกรวม ฯลฯ เพื่อปูทางสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ

หัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ ตั้งเป้าไว้ว่า จะผลักดันให้ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็น องค์กรภาครัฐ เอกชน ธุรกิจการเงินการธนาคาร พลังงาน ขนส่ง การผลิต ฯลฯ เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ครบวงจรมากที่สุด

นอกจากนี้ ช่วยลูกค้าพัฒนารากฐานทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น ชาญฉลาด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในสมรภูมิการปฏิวัติทางดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม