ไทยเนื้อหอม! ต่างชาติสนใจจัดหา LNG ป้อนดีมานด์ 24 ล้านตัน/ปี

ไทยเนื้อหอม! ต่างชาติสนใจจัดหา LNG ป้อนดีมานด์ 24 ล้านตัน/ปี

ไทยเนื้อหอม! ต่างชาติสนใจจัดหา “แอลเอ็นจี” ป้อนดีมานด์ 24 ล้านตันต่อปี ในปี 2579 ด้านกฟผ. เตรียมการศผลผู้ชนะประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน มิ.ย.นี้ หลังเปิดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 32 รายยื่น ข้อเสนอแข่งขันด้านราคาในเม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้จัดสัมมนา “การพัฒนาศักยภาพการซื้อขาย LNG และLPG ในเอเชีย 2019” เพื่อเป็นเวทีพบปะและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิต,ผู้ค้า,ผู้ขนส่ง,ผู้รับซื้อในธุรกิจ LNG และ LPG จากทุกมุมโลกที่มีศักยภาพแข่งขัน

นายธนาเดช ศิลปวิศวกุล ประธานที่ปรึกษาคณะผู้จัดงานงานสัมมนาฯ กล่าว่า ขณะนี้ ไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจมากด้านพลังงานในสายตานักลงทุนต่างชาติหลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯและเมื่อปีที่ผ่านมาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปีก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ขณะเดียวกันไทยมีแผนนำเข้า LNG ในปี 2579 สูงถึง 24 ล้านตัน นับเป็นการนำเข้าถึง 71% ของปริมาณการใช้ก๊าซฯในประเทศ

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เตรียมเปิดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) จำนวน 32 ราย ที่ยื่นเอกสารแสดงความสนใจ(REOI) และส่งข้อมูลที่แสดงถึงความพร้อมในการจัดส่ง LNG จำนวน 43 ราย ยื่นเอกสารเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูล (TOR) ในเดือนเม.ย.นี้ และคาดว่าจะประกาศผลผู้ได้รับสิทธิ์จัดหา LNG ได้ในเดือนมิ.ย.นี้ พร้อมเริ่มนำเข้า LNG ล็อตแรกได้ตามแผนภายในปีนี้

“ผู้ชนะที่จะได้รับคัดเลือกให้จัดหา LNG ป้อนกฟผ.จะมีเพียงรายเดียวเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้เสนอราคาก๊าซต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกๆสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากการประมูลครั้งนี้ พบว่า ไม่มีผู้เสนอราคาต่ำที่สุด อาจจะต้องกลับไปสู่การเริ่มต้นประมูลใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่กำหนดให้ LNG นำเข้าของกฟผ.ต้องมีราคาไม่แพงและไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า”

ส่วนความคืบหน้าการศึกษาโครงการคลังรับจ่าย LNG ลอยน้ำ (FSRU) ในอ่าวไทย ขนาด 5 ล้านตันต่อปีนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่ในการก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีในอ่าวไทยรวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุญาติดำเนินการแล้ว แต่ยังเหลือในส่วนของการเดินท่อก๊าซที่จะจัดส่ง LNG ไปเชื่อมกับท่อก๊าซหลักของปตท. ซึ่งจะต้องประสานแนวทางดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนเม็ดเงินลงทุนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง หลังจากผลการศึกษาเสร็จสิ้น เนื่องจากขณะนี้ ยังมี 2 แนวทาง คือ 1. กฟผ.เป็นผู้ก่อสร้าง FSRU เอง และ 2.ผู้อื่นเป็นคนสร้าง FSRU แล้วกฟผ.เข้าไปเช่น ซึ่งราคาจะแตกต่างกัน ขณะที่ปริมาณนำเข้า LNG ขนาด5 ล้านตันนั้น จะต้องเปิดประมูลเช่นเดียวกันการนำเข้า 1.5 ล้านตัน