ธปท.มั่นใจเกณฑ์LTVช่วยราคาบ้านถูกลง

ธปท.มั่นใจเกณฑ์LTVช่วยราคาบ้านถูกลง

“แบงก์ชาติ” แจงมาตรการ LTV ที่จะเริ่มใช้ 1 เม.ย.นี้ ช่วยสกัดดีมานด์เทียม หนุนประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ด้วย

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จับสัญญาณเสี่ยง ออกกฎคุมสินเชื่ออสังหาฯ” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันนี้(27ก.พ.) ว่า การออกมาตรการการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน คือ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการปล่อยสินเชื่อที่ดี พร้อมทั้งช่วยให้ผู้ขอสินเชื่อมีวินัยทางการเงินที่มากขึ้น เนื่องจากมาตรการนี้ผู้ขอสินเชื่อในสัญญาณที่สองขึ้นไปหรือสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท จะต้องวางเงินดาวน์ไว้ส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าว ยังช่วยลดดีมานด์เทียมทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแท้จริง สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในราคาที่เหมาะสม และสุดท้าย มาตรการดังกล่าวเป็นการยกระดับคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ป้องกันการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่รุนแรงเกินไป ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยระยะยาว เพราะจะช่วยลดความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจลงได้

นายรณดล กล่าวด้วยว่า ก่อนที่ ธปท. จะออกมาตรการดังกล่าวได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ ธปท. ออกมากนัก โดยหากซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกหรือสัญญาณแรก ยังไม่ต้องวางเงินดาวน์ เนื่องจาก ธปท. ยังกำหนดสัดส่วน LTV ไว้ที่ 100% โดยผู้ขอสินเชื่อกลุ่มนี้มีสัดส่วนราว 89% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมด

ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เริ่มมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มักมีสัญญาณกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่า 2 สัญญาขึ้นไป และที่ผ่านมากลุ่มนี้เริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ธปท. จึงได้กำหนดให้ผู้ที่ผ่อนสัญญาแรกไปแล้วเกิน 3 ปีขึ้นไป หากจะซื้อบ้านในสัญญาที่สองต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 10% หรือมี LTV ที่ 90% และ กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่ซื้อบ้านในราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยกลุ่มนี้ถือเป็นผู้บริโภคระดับบน มีฐานะการเงินที่ดี ธปท. จึงขอให้ต้องวางเงินดาวน์ 20-30% หรือมี LTV ที่ 70-80%

“การปรับเกณฑ์ของเรา ถือเป็นการดูแลความเสี่ยงในเฉพาะจุด ไม่กระทบกับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง และยังช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดดีมานด์เทียมลง ทำให้ราคาซื้อขายสะท้อนความเป็นจริงที่มากขึ้น”