'250ส.ว.' หมากการเมือง

'250ส.ว.' หมากการเมือง

การเลือกตั้งครั้งนี้นอกเหนือจากการประชันนโยบายในแต่ละพรรค หนึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้องจับตานั่นคือ “การจับขั้วทางการเมือง” ภายหลังจากมีการเลือกตั้ง

ที่มีประเมินแล้วว่า ด้วยระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา สรุปง่ายๆคือไม่สามารถจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ได้

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งหนี้ไม่พ้น “250เสียงสภาสูง” อย่าง “สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)” ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ส.ว.จะสามารถยกมือโหวตเลือกนายกฯได้อีกด้วย

โดยในบทเฉพาะกาล แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุให้ 5ปีแรก ส.ว. ทั้ง250คนมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก 6 ที่นั่งในส่วนของผบ.เหล่าทัพ (ปลัดกระทรวงกลาโหม,ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก,ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ)ที่จะเป็นส.ว.โดยตำแหน่ง 

กลุ่มที่ 2 การเลือกกันเองจากกลุ่มอาชีพต่างๆ 10 กลุ่มทั่วประเทศ ทั้งแบบองค์กรเสนอ และผู้สมัครอิสระ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ดำเนินการคัดเลือกไปก่อนหน้านี้เพื่อให้ได้ 200 รายชื่อ ก่อนส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทุบโต๊ะเลือก 50 รายชื่อ

และ กลุ่มที่ 3 ซึ่งมีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้คือ194 คนที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่คสช.ตั้งขึ้น โดยคัดเลือกรอบแรกมา 400 คน ก่อนส่งให้คสช.เคาะเหลือ 194 คน โดยล่าสุดคสช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการคัดสรรส.ว.ซึ่งมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหมเป็นประธาน ซึ่งกรรมการขุดนี้จะต้องเคาะรายชื่อ 400 คนภายในวันที่ 9 มี.ค. (15วันก่อนวันเลือกตั้ง)  

คงต้องจับตาการสรรหาในส่วนที่ 3 ที่เพิ่มเริ่มต้นว่าท้ายที่สุดแล้วรายชื่อทั้ง 400 คนจะเป็นใครบ้าง จะใช่บุคคลที่มีการคาดการณ์ไม่ว่าจะเป็น สนช. ชุดปัจจุบัน ,อดีตส.ว.บางกลุ่ม, อดีตข้าราชการที่เติบโตในยุคคสช. หรือ กลุ่มเพื่อน “3สาย3บิ๊ก” ตามที่เคยมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้หรือไม่

ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ ยังเขียนไว้ว่า ให้คสช.เคาะชื่อส.ว.จากทั้งในส่วนที่กกต.คัดเลือกและในส่วนของคณะกรรมการสรรหารวมกับ6ผบ.เหล่าทัพให้ได้ 250 ชื่อ ภายใน 3 วันหลังกกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง เมื่อถึงเวลานั้นเคาะคงจะได้เห็นโฉมหน้าของทั้ง250คนว่าจะเป็นอย่างไร ?

การที่ส.ว.ชุดนี้มาจากการ “ทุบโต๊ะ” โดยคสช.จึงเปรียบเสมือนเป็นพรรคการเมืองอีกหนึ่งพรรค หรือเป็น “หมากการเมือง” ตัวสำคัญในการยกมือสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่ฟากฝั่งพรรคการเมืองเองดูเหมือนว่า จะเข้าใจเกมนี้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ฝากไปยังส.ว.ทั้ง250คน “อย่าฝืนความรู้สึกประชาชนหากมอบความไว้วางใจให้กับพรรคการเมืองเป็นเสียงข้าวมากในสภา”

เกมนี้คงต้องดูกันไปยาวๆว่า ที่สุดฝ่ายใดจะสามารถรวบรวมเสียงในสภาฯได้มากกว่ากันระหว่างพลังประชารัฐที่มีส.ว.250เสียงอยู่ในมือบวกเสียงที่ต้องการอีก126เสียง หรือฝ่ายพรรคการเมืองที่จะรวบรวมเสียงจากพรรคต่างๆให้ได้เกินกึ่งหนึ่งหรือ376 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต!