“สเกลอัพ”เอสเอ็มอี กองทัพมด..บุกโลก !

“สเกลอัพ”เอสเอ็มอี กองทัพมด..บุกโลก !

หลังจากสเกลอัพเอสเอ็มอี ด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี 4.0 และนวัตกรรม สานต่อไอเดียแล้ว สถานีต่อไปคือสร้างเครือข่ายคนทำธุรกิจไทยและอาเซียน แพลตฟอร์มเอสเอ็มไทยผนึกกำลังบุกตลาดโลก โดยความร่วมมือของเอสเอ็มอีแบงก์ - กรมการค้าต่างประเทศ และสถาบันการศึกษา  

“เอสเอ็มอีเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังมีจุดอ่อนด้านความรู้ การบริหารจัดการ การเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งทุน รวมถึงไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก ทำให้ขาดการปรับตัวรับกับโลกยุคใหม่” มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เผยปัญหาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) พร้อมระบุว่า

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ได้ดำเนินโครงการ "เอสเอ็มอีดีสเกลอัพ (SMEs-D Scaleup) ความรู้คู่เงินทุน ต่อเนื่อง โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 3

หลังจากปีแรกโครงการเอสเอ็มอีดีสเกลอัพ เน้นการต่อยอดติดปีกธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเพื่อเสริมความรู้ให้เอสเอ็มอีไทยก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

ปีที่ 2 ได้จัดทำโครงการ เอสเอ็มอีดีสเกลอัพ โดยร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยโครงการเอสเอ็มอีดีสเกลอัพ ติดปีกธุรกิจ ยางพาราด้วยนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่อยอดแนวคิดสู่การแปรรูปยางพาราด้วยนวัตกรรมและเอสเอ็มอีดีสเกลอัพ ,โครงการติดปีกเอสเอ็ม 4.0 โดยร่วมมือกับสถาบันเคเอ็กซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาเอสเอ็มสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

และโครงการเอสเอ็มอีดีสเกลอัพ เถ้าแก่ 4.0 ไอเดียร้อยล้าน ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปั้นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จุดประกายแนวคิดเปลี่ยนไอเดียธุรกิจสู่เงินล้าน โดยเชื่อมโยงกับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) สร้างโอกาสและช่องทางการตลาด

ส่วนโครงการในปีที่ 3 “มงคล” เล่าว่า จะขยายผลให้ชัดเจนขึ้นไปโดยร่วมมือกับ กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาเพิ่มขนาดการเติบโตของเอสเอ็มอีไทยไปสู่ตลาดอาเซียนโดยมีเป้าหมายขยายการตลาด สร้างเครือข่ายระบบนิเวศธุรกิจผู้ประกอบการไทยและในภูมิภาคอาเซียน ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปีที่3 เป็นการสร้างสังคมผู้ประกอบการ เป็นเครือข่ายเอสเอ็มอีทั้งในประเทศ และขยายวงไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ หน่วยงานที่แข็งแกร่งในด้านการตลาดเชิงลึกและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ได้ร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาที่โดดเด่นแตกต่างกัน 6 หน่วยงาน มาติดอาวุธให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะออกไปลุยในตลาดต่างประเทศ” 

ขณะที่ อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จุดแข็งที่กรมฯมี คือการสร้างเครือข่ายการทำการค้าระหว่างเพื่อนบ้าน ที่มีข้อมูลเชิงลึก โดยได้สร้างความสัมพันธ์กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมาตลอด 

โครงการล่าสุด คือ โครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Young Entrepreneur Network Development Program: YEN-D ) พัฒนาโครงการมาแล้ว 4 ซีซั่นในการนำนักธุรกิจรุ่นใหม่จากประเทศเพื่อนบ้าน และนักธุรกิจจากไทย ที่ปัจจุบันมีกว่า 1,200 คน จากไทยครึ่งหนึ่ง และที่เหลือ 4 ประเทศ ประเทศละ 100 คน เข้ามาสร้างเครือข่าย สร้างมูลค่าธุรกิจการค้าระหว่างกันได้ถึง 4,000 ล้านบาท โดยมีหลักการ จะเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนเข้ามาร่วมกันอบรมเสริมทักษะการทำการค้าระหว่างกัน ส่วนซีซันที่ 5 จะมี YEN-D plus เพิ่มประเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เข้ามาเสริมพลังนักธุรกิจอาเซียนให้ครอบคลุมตลาดมากขึ้น

ด้าน ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สถาบันมุ่งเน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เติบใหญ่ โดยแปลงฝันให้กลายเป็นจริง ในปีนี้จึงสานต่อจุดแข็งของผู้ประกอบการประจำท้องถิ่นภาคใต้ ในการเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องแกงและเครื่องเทศ โดยนำกระบวนการวิจัยและพัฒนากลุ่มสมุนไพรและเรื่องเทศเพื่อพัฒนาอาหารสุขภาพ และแนวคิดพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแกงไทยสู่ตลาดโลก

“ฝันของเอสเอ็มอีไทยจะเป็นจริงได้ต้องตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจะขยายตลาดทะลุไปทั่วโลก โลดแล่นในตลาด โดยมีพาร์ทเนอร์ที่ดีออย่างกรมการค้าต่างประเทศ และเอสเอ็มอีแบงก์ บูรณาการสร้างพันธมมิตรในตลาด “

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด วุฒิศาสตร์กุล รองอธิบดีอาวุโส ด้านกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ เช่น การสร้างนักธุรกิจพลิกโอกาส ผ่านโครงการเถ้าแก่ 4.0 ติดปีกเงินล้านให้กับกลุ่มผู้ประกอบการตลาดนักจตุจักร ทั้งด้านการการตลาด สร้างโอกาสค้าออนไลน์ และการสร้างเรื่องราว เป็นต้นแบบของการพลิกนำไอเดียมาสร้างธุรกิจ

ในการร่วมมือปีที่ 3 ได้เข้าไปส่งเสริมความรู้ในกลุ่มชา กาแฟ และผ้าพื้นเมือง ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสร้างองค์ความรู้และโอกาสการขยายธุรกิจ โดยปฏิรูปธุรกิจเดิมไปสู่การทำธุรกิจยุคดิจิทัล และเรียนรู้ยุทธศาสตร์การวางแผนธุรกิจ ให้สามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศพัฒนาสู่ความยั่งยืน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชาติต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผ.ศ.ดร.ณดา จันทร์สม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA กล่าวว่า สถาบันได้เข้าไปเติมเต็มการบริหารจัดการควบคู่กับการปฏิบัติ โดยร่วมมือกับสมาคมต่างๆ และสถาบันการศึกษาเพื่อยกระดับไปสู่ภาคบริการ เซ็คเตอร์หลักของประเทศทีจะเพิ่มมูลค่าในอนาคต

วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง รองประธานเจ้าหน้าที่สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สถาบันเชี่ยวชาญเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีแนวคิดที่จะยกระดับเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อตอบสนองกระบวนการผลิตในยุค4.0 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงการผลิต เช่น การลดต้นทุน หรือการนำระบบอัตโนมัติ รวมถึงระบบเชื่อมโยงการผลิตกับอินเตอร์เน็ท (IoT -Internet of Things) รวมถึงระบบการใช้หุ่นยนต์ปฏิบัติงาน มาเสริมกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น

----------------------------------

ปั้นเครือข่ายรุกตลาดโลก

-ต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม

-บูรณาการวิชาการกับหน่วยงานภาครัฐ

-เชื่อมต่อเครือข่ายYEN-D