มก. ถอดบทเรียนหาโมเดลสกัดพีเอ็ม2.5

มก. ถอดบทเรียนหาโมเดลสกัดพีเอ็ม2.5

ม.เกษตรฯ เปิดเวทีระดมสมองแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว ชงประเด็นอนุญาตให้เกษตกรเผาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หวังแก้ปัญหาลักลอบเผา ระบุชาวบ้านรู้ช่องหลบหลีกดาวเทียมตรวจจับฮอตสปอตหรือจุดความร้อน ส่งผลให้การเฝ้าระวังไม่ได้ผล

ม.เกษตรฯ เปิดเวทีระดมสมองแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว ชงประเด็นอนุญาตให้เกษตกรเผาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หวังแก้ปัญหาลักลอบเผา ระบุชาวบ้านรู้ช่องหลบหลีกดาวเทียมตรวจจับฮอตสปอตหรือจุดความร้อน ส่งผลให้การเฝ้าระวังไม่ได้ผล

เวทีเสวนาวิชาการ “บทเรียนจากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 ในประเทศไทย” จัดโดยมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่ระดมคณาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และ คณะเศรษฐศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนข้อมูล ผลกระทบและแนวทางแก้ปัญหา ข้อมูลจากการเสวนานี้จะนำไปสู่การวิจัยให้เป็นโมเดลต้นแบบ ที่บูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันจากคณะต่างๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับการแก้ปัญหาในระดับประเทศต่อไป

เชื้อเพลิงยูโรลดฝุ่นได้ 10-20%

ผศ.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุการเกิดอันดับแรกคือ ระบบการขนส่งที่มาจากการใช้น้ำมันดีเซล รวมถึงจำนวนรถยนต์ที่ใช้มีจำนวนมากแม้ว่าจะพยายามใช้มาตรฐานยูโร 4,5 เข้ามาช่วยแต่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้แค่ 10-20% แต่หากจำนวนรถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นก็จะไม่มีประโยชน์ ดังนั้น หากสามารถลดจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที

ผศ.กอบศักดิ์ วันธงไชย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและทรัพยากรมนุษย์ คณะวนศาสตร์ กล่าวว่า แหล่งกำเนิดของพีเอ็ม 2.5 ส่วนหนึ่งมาจากการเผาทางภาคเกษตรและป่าไม้ที่มีมานาน เช่นเดียวกับทั่วโลกที่เกิดเหตุไฟไหม้ป่าอยู่เรื่อยๆ แต่ต้นเหตุหลักของไฟป่าในไทยเกิดจากมนุษย์ ส่วนหนึ่งมาจากภาคการเกษตรที่ต้องการเผาวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่

ที่ผ่านมามี 2 หน่วยงานทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ป่าประมาณ 100 ล้านไร่ คือ กรมอุทยานแห่งชาติและกรมป่าไม้ แต่ไม่สามารถครอบคลุมเพราะพื้นที่ใหญ่ แม้จะมีความพยายามใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการหาจุดความร้อน (ฮอตสปอต) แต่ชาวบ้านสามารถเผาโดยไม่ทำให้เกิดฮอตสปอต

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การอนุญาตให้เผาอย่างถูกต้อง เหมาะสมตามหลักวิชาการ เพราะการเผาเป็นส่วนหนึ่งของการเพาะปลูกทางการเกษตร เพระเป็นการฆ่าแมลงที่วางไข่ไว้ ไม่เช่นนั้นจะต้องใช้สารเคมีในการฆ่าแมลง ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการศึกษาข้อมูล รายละเอียดและมาตรการที่นำมาใช้ก่อนดำเนินการเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและสามารถแก้ปัญหาพีเอ็ม2.5

หากเป็นไปได้ควรพัฒนานวัตกรรมการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้กลับมามีมูลค่า เพื่อที่จะไม่ต้องเผาหรือเผาให้น้อยที่สุด รวมทั้งใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยกำหนดนโยบายที่เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผศ.สุชาติ เหลืองประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงช่องว่างสำหรับพีเอ็ม2.5 ในภาคอุตสาหกรรม ว่า ปัจจุบันมาตรฐานทางอุตสาหกรรมควบคุมเฉพาะฝุ่นโดยรวม แต่ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ยังไม่มีมาตรฐานกำหนด ทำให้ที่ผ่านมาจึงตรวจสอบไม่พบในโรงงาน

ขณะนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์ ที่นำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสถานการณ์พีเอ็ม2.5 ตลอด24 ชั่วโมงให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและชีวิตให้ปลอดภัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับคนไทยทั่วประเทศ

ครัวเรือนเต็มใจจ่ายเพื่อ สวล.

รศ. วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องดูปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มีการตีมูลค่าสิ่งแวดล้อมให้ออกมาเป็นตัวเลข เพื่ออธิบายให้กับผู้กำหนดนโยบายเข้าใจได้ง่าย จึงต้องคำนวณต้นทุน ประโยชน์และความคุ้มค่าในการลงทุนรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประเมินมูลค่าต้นทุนมลพิษทางอากาศโดยใช้แนวคิดทางเศรษฐมิติ Subjective Well - Being ประเมินค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อหน่วยสุดท้าย พบว่าความเต็มใจจ่ายต่อครัวเรือนของคนกรุงเทพฯ เพื่อลดพีเอ็ม 10 อยู่ที่ 6,380 บาทต่อปีต่อไมครอน จำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ 2.89 ล้านครัวเรือน

“หมายความว่า 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของพีเอ็ม10 ที่เกินระดับปลอดภัยจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 18,420 ล้านบาทต่อปี” รศ.วิษณุ กล่าว

ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยายทางเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดนโยบายที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง มาตรการรถคันแรกเพื่อเพิ่มจีดีพี ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรองรับ หรือการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแต่นโยบายลงทุนแต่ไม่สนับสนุนมาตรการภาษีที่จูงใจให้ผู้ขับขี่ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น