'โฆษกคสช.' ยันไม่มีใบสั่งเร่งรัด 'ธนาธร' ผิด พ.ร.บ.คอมพ์

'โฆษกคสช.' ยันไม่มีใบสั่งเร่งรัด 'ธนาธร' ผิด พ.ร.บ.คอมพ์

"โฆษกคสช." ยันไม่มีใบสั่งเร่งรัด-เลือกปฏิบัติ "ธนาธร" ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ ชี้มีพฤติกรรมหมิ่นกระบวนการยุติธรรมไทย

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ชี้แจงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุมีการเร่งรัดและเลือกปฏิบัติ ในคดีที่ถูกฝ่ายกฎหมายคสช. แจ้งความต่อ บก.ปอท. กล่าวหา ตามพ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา 14(2) กรณีไลฟ์สดวิจารณ์พลังดูด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา พร้อมพวก

นายไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนสมาชิกพรรค และน.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค ซึ่งต้องเดินไปเข้าพบอัยการสูงสุด (อสส.) ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ว่า เป็นหน้าที่ของทางตำรวจ ยืนยัน คสช.ไม่ได้เร่งรัดหรือเลือกปฏิบัติ ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการขั้นตอนปกติทั่วไป พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็เป็นกฎหมายปกติ ไม่ใช่กฎหมายที่มาจาก คสช.แล้วนำมาบังคับใช้กับบุคคลในลักษณะเฉพาะเจาะจงใดๆ อาจมีบางบุคคลพยายามบิดเบือน ข้อเท็จจริงโดยให้ข้อมูลออกว่า เป็นมาตรการของ คสช.กระทำกับบางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม โดยทั่วไปในทุกๆ คดีหากศาลยังไม่ตัดสิน ย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และเปิดกว้างให้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทุกคนสามารถไปแก้ต่างได้ตามช่องทางและกระบวนการ ซึ่งถือเป็นหลักการตามแนวทางสากล

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนพฤติกรรมทางคดีของนายธนาธร นั้นเหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ 26 มิ.ย.61 โดยนายธนาธร และผู้ร่วมรายการทั้งสามคน ได้ร่วมกันกล่าวบิดเบือนว่า "มีการดูด สส.เข้าไปพรรคใหม่ที่มีชื่อคล้ายคลึงกับนโยบายรัฐ มีการใช้คดีความเก่ามาเป็นเงื่อนไข บีบให้ สส.เข้าร่วม พรรคใหม่ โดยขู่ว่าถ้าไม่เข้าร่วม จะดำเนินคดีต่างๆตามขั่นตอน

พ.อ.วินธัย ย้ำว่า คำพูดของ นายธนาธร เป็นการกล่าวหาว่า มีการนำกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงกรณีที่นายธนาธร ระบุว่า ความยุติธรรมเกิดขึ้นเฉพาะกับคนรวย แต่กับคนจนไม่มีความยุติธรรมเหลืออยู่ในสังคม แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อำนาจอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม หากกระบวนการยุติธรรมไทย ตัดสินอะไรต่างๆในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วยความยึดมั่นในความยุติธรรม ประเทศไทยคงไม่ต้องเดินมาถึงจุดนี้ ส่วนนี้ก็เหมือนเป็นการหมิ่นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยด้วย เช่นกัน

"ข้อมูลลักษณะดังกล่าวที่นายธนาธร และพวกได้พูดผ่านรายการไปส่งผลต่อภาพลักษณ์ในทางสาธารณะของบุคคล องค์กร รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในหลายมิติด้วยกัน โดยเฉพาะด้วยตัวตนของนายธนาธร ขณะนี้อยู่ในสถานะผู้มีบทบาทอยู่ในสังคม ซึ่งคดีนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการมาก่อนมีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ความคืบหน้านั้นอาจเป็นที่ความร่วมมือของผู้ถูกกล่าวหาเองด้วย" พ.อ.วินธัย กล่าวและว่า

ส่วนที่มีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.มีความพยายามเร่งรัดปิดคดีเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองนั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ไม่อยากให้ไปกล่าวหาในลักษณะดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าทื่ เพราะเชื่อว่าที่ เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักขั้นตอนวิธีการ และตามบทบาทหน้าที่ในกรอบกฎหมายของการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ