ยักษ์ใหญ่พลังงานจีน-ไทย จับมือเดินหน้าลงทุนอีอีซี

ยักษ์ใหญ่พลังงานจีน-ไทย จับมือเดินหน้าลงทุนอีอีซี

เผยโครงการลงทุนในอีอีซี จับมือบีกริมทุ่มงบกว่า 3 พันล้านบาท ลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริดป้อนไฟฟ้าให้สนามบินอู่ตะเภา พร้อมขยายการลงทุนในโครงการอื่นๆ ในไทย รองนายกฯชี้เป็นจุดเชื่อมโยงไทยกับเกรตเตอร์เบย์ในฮ่องกง เผยแครี่ แลม เยือนไทย 27-28 ก.พ.นี้เปิดสนง.การค้าฯ

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่ที่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่ม โดยกระทรวงพลังงานประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคกลางตะวันออกในปี 2562 อยู่ที่ 5,333 เมกะวัตต์ และในปี 2580 จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 10,033 เมกะวัตต์ ซึ่งภาครัฐได้กำหนดแผนผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะการเปิดให้ภาคเอกชนลงทุนผลิตไฟฟ้า

ลุยลงทุนพลังงาน 3.6 พันล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายเฉิน จี้ปิง ประธานบริษัท China Energy Engineering Corporation (Energy China) รัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของประเทศจีน ซึ่ง Energy China ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมมือกับบริษัทบีกริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริดสำหรับงานระบบไฟฟ้าและระบบน้ำเย็นในสนามบินอู่ตะเภา เฟส 1 มูลค่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบีกริมเป็นผู้คัดเลือกให้ได้เป็นผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเช่าที่ดินจากกองทัพเรือคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

ยักษ์ใหญ่พลังงานจีน-ไทย จับมือเดินหน้าลงทุนอีอีซี

รัฐวิสาหกิจผลิตไฟฟ้า 70% ของจีน

ทั้งนี้ Energy China ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในประเทศจีนเป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ที่มีการผลิตไฟฟ้าถึง 70% ของประเทศจีน มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมถึง 220 กิกะวัตต์ มีรายได้รวมกว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นรัฐบาลจีนได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่ออกไปลงทุนด้านพลังงานในเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (one belt one road) โดยใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในไทยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ โดยจะลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในวงเงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ได้เชิญชวนให้ Energy China เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ (Biofuels and biochemical industries) ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งบริษัทที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เช่น การอำนวยความสะดวกตรวจคนเข้าเมือง การถือครองที่ดิน และสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี เป็นต้น

ผู้บริหารฮ่องกงเยือนไทยเปิดสนง.การค้า

นายสมคิด กล่าวถึงการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย (HKETO) ว่านางแครี แลม ( Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงจะเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 27-28 ก.พ.นี้ โดยในวันที่ 28 ก.พ.จะเข้าร่วมกิจกรรมเวทีสัมนาของกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางมาเยี่ยมคาราวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเดินทางไปเปิดสำนักงาน HKETO ซึ่งฮ่องกงถือว่ามีความสำคัญและมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงมากในปัจจุบันเนื่องจากจีนให้ เกรตเตอร์เบย์ (Greater Bay Area) เป็นหัวหอกที่สำคัญของเส้นทาง one belt one road ซึ่งการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงในไทยจะช่วยเชื่อมโยงความร่วมมือเศรษฐกิจของทั้งไทย ฮ่องกง และจีนได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“การที่ Energy China เข้ามาลงทุนในอีอีซีถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะถือเป็นหน่วยงานใหญ่ของจีนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้รับผิดชอบการลงทุนพลังงานครั้งใหญ่ที่พื้นที่ เกรตเตอร์เบย์ ที่ประกอบไปด้วย ซึ่งประกอบด้วยฮ่องกง กวางตุ้ง และมาเก๊า ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจีน การลงทุนในครั้งนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงการลงทุนทั้งในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่เกรตเตอร์เบย์ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซีที่เป็นศูนย์กลางของซีแอลเอ็มวีกับ one belt one road ได้เป็นอย่างดี”

รายงานข่าวระบุว่า โครงการ โรงไฟฟ้าไฮบริดสำหรับงานระบบไฟฟ้าและระบบน้ำเย็นในสนามบินอู่ตะเภา เฟส 1 ซึ่งบริษัทบีกริมได้รับการคัดเลือกจากกองทัพเรือในฐานะเจ้าของพื้นที่ให้ดำเนินโครงการต่างๆ บริษัทฯมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 80 เมกะวัตต์ พร้อมกับการพิจารณาจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 15 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง

เริ่มจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ปี64

โดยจะดำเนินการก่อสร้างและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับพื้นที่รับผิดชอบหลักบริเวณสนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่รับผิดชอบรองในส่วนของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ พร้อมทั้งจำหน่ายน้ำเย็นให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาได้ภายในเดือนม.ค. 2564

นอกจากนี้ บริษัทได้เสนอแผนในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าในสนามบินอู่ตะเภา ระยะที่ 2 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ/หรือติดตั้งบนหลังคา และ/หรือแบบลอยน้ำ 55 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 2,400 ล้านบาท โดยแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าระยะที่ 2 ตามข้อเสนอของบริษัทฯ นั้น ได้รับการกำหนดไว้ ระหว่างปี พ.ศ. 2564-2566

สำหรับโครงการนี้ บี.กริม ลงนามเอ็มโอยูกับ Energy China ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2559 โดยมีกรอบความร่วมมือที่จะร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อขยายสู่ความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสในการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม โดย Energy China มั่นใจในศักยภาพของ บี.กริม เพาเวอร์ที่อยู่ในลำดับต้นของประเทศไทย