ZEN รุกแบรนด์ใหม่ 5 ปียอดขาย 'หมื่นล้าน'

ZEN รุกแบรนด์ใหม่ 5 ปียอดขาย 'หมื่นล้าน'

แสวงหาทำเล Blue Ocean & เพิ่มแบรนด์ 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ 'เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป' เข้าซื้อขายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 20 ก.พ.นี้ 'บุญยง ตันสกุล' มือปืนรับจ้างบริหาร ส่งซิกกำลังเจรจาซื้อ 1-2 แบรนด์ หวังสร้างเงินในกระเป๋า 5 ปี 'หมื่นล้าน'

แม้นั่งตำแหน่ง 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' (CEO) แค่เพียง  1 ปี แต่ว่า 'ความรอบรู้' เรื่องการทำธุรกิจของ 'บุญยง ตันสกุล' มือปืนรับจ้างบริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN บริษัทน้องใหม่ที่เตรียมขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ในราคาหุ้นละ 13 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 75 ล้านหุ้น แก่พอตัว...!!

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา 'บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป' ของ 'กลุ่มสรรคนนท์-จอมขวัญ จิราธิวัฒน์' หุ้นใหญ่สัดส่วน 66.90% (ตัวเลขหลังขายหุ้นไอพีโอ) ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับทัพองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนเปลี่ยน ดังนั้น ธุรกิจของเครือ ZEN จำเป็นก็ต้อง 'ทรานส์ฟอร์ม' (Transform) ตัวเองให้ตามไปด้วย

'จะไม่นั่งรอโอกาสแบบเดิมๆ แล้ว แต่จะปรับตัวเราไปหาโอกาสที่รออยู่แล้ว' หนึ่งในโมเดลธุรกิจของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ จากแบรนด์อาหารญี่ปุ่นที่ปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งบริษัทต้องไดเวอร์ซิไฟด์ตัวกลายมาเป็น 'ผู้ให้บริการอาหาร' (Food Service) อย่างเต็มรูปแบบ โดยในเครือ ZEN จะมีแบรนด์อาหารที่หลากหลาย และในอนาคตสัดส่วนรายได้อาหารญี่ปุ่นจะลดลงเรื่อยๆ 

'ธุรกิจยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก ฉะนั้น ภารกิจแรกที่ต้องทำ นั่นคือ อยากผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากต้องการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตในอนาคต'  

ปัจจุบัน เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ธุรกิจร้านอาหาร รวม 255 สาขา แบ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ จำนวน 88 สาขา และร้านอาหารไทยอีก 6 แบรนด์ จำนวน 167 สาขา 2.ธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจุบันมี 143 สาขา 

และ 3.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ได้แก่ ธุรกิจการบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และการบริการจัดเลี้ยง (Catering) ธุรกิจการให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) และ ธุรกิจอาหารค้าปลีก เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat) เป็นต้น  

'บุญยง ตันสกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN ถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า เมื่อเป้าหมายสำคัญต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำ 'ผู้ให้บริการอาหาร' (Food Service) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีแบรนด์อาหารอีกหลากหลายทั่วโลก จากปัจจุบันมี 12 แบรนด์ แบ่งเป็น กลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ และกลุ่มร้านแบรนด์อาหารไทย 6 แบรนด์ 

ฉะนั้น แบรนด์อาหารที่ 13 หรือ 14 จะเกิดขึ้นแน่นอน...!! ภายใน 5 ปีข้างหน้า (2562-2566) สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้ของบริษัทแตะ 'หมื่นล้านบาท' ไม่เคยหยุดในการคุยกับแบรนด์อาหารใหม่ๆ ทั้งไทยและต่างชาติ ตอนนี้สนใจอยู่ 3-4 แบรนด์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาข้อมูลและรายละเอียด โดยขนาดที่ ZEN สนใจเป็นแบรนด์อาหารที่มีรายได้ระดับ 500-1,000 ล้านบาท เพียงแต่ตอนนี้เราต้องการทำตลาด 'แบรนด์เขียง' ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยตามสั่ง หรือ Street Food และ 'แบรนด์ Musha by ZEN' ให้แข็งแกร่งก่อน หลังพึ่งเปิดตัวทั้งสองแบรนด์ไปเมื่อช่วงปลายปี 2561  

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้อาจจะมีโอกาสเห็นหรือไม่เห็นการซื้อแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นอยู่ที่การคุยในรายละเอียดหากได้ข้อสรุปเร็วอาจจะเห็นดีลสำเร็จในครึ่งปีหลัง

'หากเราต้องการเติบโตหมื่นล้านภายใน 5 ปี จำเป็นต้องมีแบรนด์อาหารใหม่ๆ เข้ามาเติมในพอร์ตลงทุนราว 1-2 แบรนด์ อาทิ อาหารจีน หรือ อาหารประเภทต้มๆ (ยกตัวอย่าง ชาบู,สุกี้ เป็นต้น) แต่หากไม่มีแบรนด์ใหม่เข้ามาเติมคาดว่ารายได้จะอยู่ราว 8,000 ล้านบาท'  

'ซีอีโอ' เล่าให้ฟังต่อว่า สำหรับแบรนด์ร้านอาหารภายใต้การดำเนินงานของ ZEN ต่อไปธุรกิจในเครือของ ZEN จะเคลื่อนตัวไปแบบตัวเล็กด้วยแบรนด์ร้านอาหารไทย ด้วยสโลแกนว่า 'ร้านสะดวกกิน' ขณะที่แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นต้องรักษาความเป็นพรีเมียมเหมือนเดิม เพราะว่าแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นมีกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะเป็นครอบครัว 

ขณะที่ กลยุทธ์ในปี 2562 บริษัทจะเน้นขยาย 2 แบรนด์ใหม่ (แบรนด์เขียง และ Musha) ที่พึ่งเปิดตัวไปเดือนธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดย 'แบรนด์เขียง' ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยตามสั่ง (Street Food) ซึ่งจะใช้โมเดลมุ่งหาทำเลที่เป็น 'Blue Ocean' เช่น ตึกแถวในซอย , อาคารออฟฟิศ , สถานีเติมน้ำมัน , หน้าหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น โดยปัจจุบันพื้นที่มีรออยู่แล้วเพียงแต่บริษัทต้องปรับตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ที่มีอยู่ต่อไปการขยายสาขาไม่จำเป็นต้องรอห้างสรรพสินค้าเปิดสาขาใหม่แล้ว   

โดยบริษัทจะเริ่มทำโมเดลธุรกิจ ด้วยการนำแบรนด์เขียงไปตั้งอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ยกตัวอย่าง พื้นที่หน้าหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ เราก็นำแบรนด์ของเราไปตั้งตรงนั้นเลย !! เปรียบประหนึ่งเป็นครัวของหมู่บ้าน จากปัจจุบันมีร้านอาหารแบรนด์ไทยในปั้มน้ำมัน PTT ซึ่งบริเวณนั้นมีหมู่บ้านจัดสรร 4 โครงการ ส่งผลให้ตอนนี้บริษัทมีสัดส่วนรายได้อาหารที่ไม่ได้ทานในร้าน หรือ Take-away อยู่ที่ 20% คิดเป็นยอดขายต่อวัน 15,000-20,000 บาท 

ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเปิดแบรนด์เขียง 40 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่อยู่ในปั้มน้ำมัน 30 สาขา และที่เหลือเป็นสาขาตามตึกแถวหรือออฟฟิศ และต่อไปสำหรับโลเคชั่นที่อยากเข้าไปตั้งร้านแบรนด์เขียง คือ ตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ 

'โมเดลธุรกิจของผมคิดใหม่พื้นที่ไหนที่มีโอกาสและยังไม่มีใครไป ZEN จะทรานส์ฟอร์มไป ด้วยการไปอยู่ตามชุมชุน โดยใช้แบรนด์เขียงเป็นตัวบุกตลาด Food Service ต่อไปแบรนด์เขียงจะเป็นครัวของหมู่บ้าน , ครัวของออฟฟิศ'  

สำหรับ 'แบรนด์ Musha by ZEN' เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ เปรียบเหมือนอาหารญี่ปุ่นตามสั่งเป็นอาหารจานเดียว แต่สามารถเติมข้าวได้แบบไม่อั้น 'เปรียบเหมือนอาหารญี่ปุ่นแบรนด์เขียง' ปัจจุบันมี 4 สาขา เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นนักเรียน , นักศึกษา ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นรุ่นใหม่ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่ชอบเล่นสมาร์โฟน ต่อไปจะนำแบรนด์ Musha มาเปิดในปั้มน้ำมันด้วย 

เขาบอกต่อว่า อีกหนึ่งธุรกิจกำลังมาแรงคือ 'ธุรกิจดิลิวอรี่' ซึ่งบริษัทเปิดดำเนินการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายอดขายเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' โดยยอดขายเดือนละ 4 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทใช้บริการจัดส่งอาหารในเครือของ ZEN ผ่านบริการ LINE MAN , PANDA และในเดือนมี.ค. นี้ บริษัทจะเปิดตัวหมายเลขโทรศัพท์ 4 หลัก  (Call Center) ในการสั่งอาหารในแบรนด์ ZEN รวมทั้งการปรับรูปแบบเมนูอาหารใหม่ ซึ่งจะเป็นเมนูที่ทำออกมาเพื่อจำหน่ายผ่านออนไลน์เท่านั้น !!  

สำหรับปี 2562–2563 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านอาหารเพิ่มขึ้นอีก 348 สาขา แบ่งเป็นการลงทุนในปีนี้จำนวน 123 สาขา ผ่านรูปแบบแฟรนไชส์ 87 สาขาและลงทุนเอง 36 สาขา ขณะที่ปี 2563 จะเพิ่มสาขาอีก 225 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 175 สาขาและลงทุนเอง 50 สาขา เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีนับจากนี้ บริษัทพร้อมขยายสาขาอย่างเต็มที่ หลังจากได้ลงทุนด้านระบบบริหารจัดการภายในองค์กรและการเสริมทีมบุคลากรไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับองค์กรไปสู่การเป็นผู้นำธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสในประเทศไทย และมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารที่ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ร้านอาหาร 90% (เป็นอาหารญี่ปุ่น 90% และอาหารไทย 10%) และอีก 10% มาจากธุรกิจแฟรนไซส์และดิลิเวอรี่  แต่ในอนาคต 3-5 ปี แนวโน้มร้านอาหารแบรนด์ไทยจะมีสัดส่วนใหญ่กว่าแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นอาจจะเป็น 50 : 50 เพราะว่าแบรนด์อาหารไทยต่อไปแบรนด์ร้านอาหารไทยจะเติบโตทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า คาดว่าสัดส่วนรายได้จะเริ่มเปลี่ยนทุกๆ ปี 

'ธุรกิจของ ZEN ดีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราจะต่อยอดยังไงให้เร็ว ฉะนั้นโมเดลธุรกิจเราจะปรับจากที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีการแข็งขันสูง โดยเราจะต้องไดเวอร์ซิไฟด์ตัวเองมาเป็น Food Service และอนาคตจะกินสัดส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ'  

อย่างไรก็ตาม อนาคต ZEN จะไม่นั่งรอลูกค้ามากินในร้านอย่างเดียวแล้ว ตรงกันข้ามเราจะเป็นคนวิ่งไปหาลูกค้าเอง ด้วยกลยุทธ์ย่อตัวเองให้เล็ก และค่อยๆ ทรานส์ฟอร์มตัวเองไปอยู่ใกล้ลูกค้าให้มากที่สุด อย่างหน้าออฟฟิศ หรือ ตามตึกในซอกซอย ซึ่งลูกค้าหิวเมื่อไหร่ลงมาหาเราและเจอเราเป็นร้านแรกนั่นแหละเป็นผู้ชนะจากเดิมที่เรานั่งรอลูกค้ามาหา 

สำหรับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารโดยนับจากปี 2555–2560 ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารมีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4.7% ต่อปี หรือมีมูลค่าตลาดรวมในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 8.4 แสนล้านบาท ขณะที่ Euromonitor International คาดการณ์ในปี 2565 มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.05 ล้านล้านบาท

ท้ายสุด 'บุญยง' ทิ้งท้ายไว้ว่า ธุรกิจของ ZEN ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ จึงได้รับผลดีจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ขยายตัวและธุรกิจร้านอาหารที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของรายได้ประชากรและการเติบโตของหัวเมืองใหญ่ อนาคตจะมีแบรนด์อาหารมากขึ้น โดยเป็นการซื้อแบรนด์และพัฒนาแบบของตัวเอง