ศาลแพ่ง เริ่มแล้วบริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางอิเล็กทรอนิกส์

ศาลแพ่ง เริ่มแล้วบริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางอิเล็กทรอนิกส์

ศาลแพ่ง เริ่มแล้วบริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางอิเล็กทรอนิกส์ กรอกข้อมูลออนไลน์กำหนดวันนัดได้เอง ขณะที่ "เลขาธิการศาลยุติธรรม" ย้ำเป้าหมายทำ D-Court ศาลดิจิทัล ปี 63 ก้าวพร้อมไทยแลนด์ 4.0 สร้างศาลมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.62 ที่ห้องประชุมชั้น 12 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วย นายโอภาส อนันตสมบูรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ร่วมในพิธีเปิด บริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางอิเล็กทรอนิกส์ของศาลแพ่ง หรือ Electronic Filing for Appointment of Estate Administrator Motion โดยมีคณะผู้บริหารศาลแพ่ง , ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ ร่วมงานคับคั่ง

โดยบริการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Filing for Appointment of Estate Administrator Motion เป็นทางเลือกให้กับคู่ความในการบันทึกข้อมูล และยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ด้วยตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางไปศาลในวันยื่นคำร้องขอ และคู่ความสามารถขอนัดไต่สวนผ่านทางวิดีโอคอล โดยไม่ต้องเดินทางไปศาลในวันนัดไต่สวน

สำหรับขั้นตอนการเข้าใช้งาน เริ่มจากเข้าเว็บไซต์ศาลแพ่ง www.civil.coj.go.th และลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งาน ด้วยการกรอกข้อมูล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะไปปรากฏในเอกสารคำร้องฯ โดยอัตโนมัติ และเมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ให้ดาวน์โหลดเอกสารตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมศาล , ค่ารับรองเอกสาร โดยจะสั่งพิมพ์ใบแจ้งการชำระเงิน แล้วนำไปชำระเงินผ่านธนาคารภายใน 3 วัน แล้วส่งหลักฐานการชำระเงินเข้าระบบ ขณะที่คู่ความสามารถเลือกกำหนดวันนัดไต่สวนด้วยตนเอง และทำการยืนยันฟ้อง โดยเมื่อถึงวันนัดศาลก็จะทำการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอล จากนั้นศาลจะจัดส่งเอกสารคำสั่งให้ทางไปรษณีย์

ทั้งนี้ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่า ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม ก็ประกาศเป้าหมายเป็นศาลดิจิทัล หรือ D-Court ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) ซึ่งหลายภาคส่วนต้องการสนับสนุนระบบดิจิทัล โดยศาลจัดสรรงบประมาณทั้งการพัฒนาระบบสำนวนอิเล็กทรอนิกส์ และระบบห้องพิจารณาคดี เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมง่ายขึ้น และเมื่อประสบความสำเร็จ ก็กระจายโครงการไปทุกศาลทั่วประเทศ ตามนโยบายของนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ที่ต้องการให้ทุกศาลมีมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมโยงข้อมูลคดีได้ทั้งหมด อย่างในสมัยก่อนการตรวจสอบคดีของผู้ดำรงตำแหน่งใดสักตำแหน่ง ต้องใช้เวลาถึง 45 วัน ปัจจุบันทำได้ 3 วัน ต่อไปต้องพัฒนาเป็น Realtime ตรวจสอบได้ทันที รวมถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการต่างๆ ของศาล ต่อไปจะใช้การโหวตผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องส่งบัตร