'เรืองไกร' ยื่นศาลรธน.คำร้องกกต. มิชอบ

'เรืองไกร' ยื่นศาลรธน.คำร้องกกต. มิชอบ

"เรืองไกร" ยื่นศาลรธน.คำร้องกกต. มิชอบ พร้อมจุดเทียนบอกเชื่อว่า ไม่ใช่ยุคมืด

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  

ขอให้ไม่รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้วินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่า เข้าข่ายกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 


โดยนายเรืองไกร ได้ระบุว่า ตนกำลังจะได้รับความเดือดร้อน และอาจเยียวยาได้ยาก หากปล่อยให้เรื่องที่ทางกกต. ไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดสินในเวลาอันรรวดเร็ว และหากมีคำตัดสินวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ไม่มีทางจะย้อนคืนได้ เพราะตามขั้นตอนของกฎหมายเป็นเช่นนั้น และตนยอมรับขั้นตอนการตรวจสอบตามข้อกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ตนจะไม่ตรวจสอบการกระทำของ กกต. ที่กล่าวหาและมีมติต่อพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยเวลาอันรวดเร็วและข่าวสองสามชิ้น ในที่สุด กกต. ก็ลงมติว่า พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กระทำการตามความใน พรป. พรรคการเมืองมาตรา 92  ที่ระบุว่า "เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ..." 

ซึ่งตนไม่ได้ติดใจอะไร แต่เพียงว่าตนก็ตรวจสอบกฎหมายมาเยอะจึงฉุกคิดได้ว่า การที่ กกต.อ้าง พรป. พรรคการเมืองนั้น กกต.เองต้องอยู่ในอำนาจกฎหมายอีกฉบับหนึ่งด้วย คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งมีหมวด 2 บัญญัติไว้ชัดเกี่ยวกับ การสืบสวน การไต่สวน และการดำเนินคดี ตรงนี้เองที่ตนฉุกคิดได้ว่า ใช่ขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า กกต. อาศัยเพียงพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาใช้ในการลงมติและมอบหมายให้นายทะเบียนมายื่นคำร้องอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการพิจารณาของกกต.จะต้องมีการไต่สวน สอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิชี้แจงแสดงหลักฐาน แต่ทำไมทาง กกต. ถึงต้องให้ฝ่ายกฎหมายพรรคของตนไปร้องขอว่าให้มีการไต่สวน และเมื่อกกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไปวินิจฉัยหรือ?

ทั้งระบุว่า การที่กกต.มีมติชี้มูลว่าพรรคไทยรักษาชาติกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พยานเอกสารหลักฐาน ที่กกต.นำมาใช้ในการวินิจฉัยนั้นไม่มีคำว่าปฏิปักษ์เลย ซึ่งความหมายของคำว่า ปฏิปักษ์ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ฝ่ายตรงข้าม ข้าศึก ศัตรู ย่อมหมายความว่า พรรคทษช.อันอาจเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือข้าศึก ศัตรู ต่อการปกครอง ซึ่งข้อเท็จจริงที่กกต.นำมาพิจารณานั้น เป็นการตีความไปเองให้เกินเลยไปกว่าตัวหนังสือที่ปรากฎในพยานหลักฐาน

 

"คำร้องของ กกต. มีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหากมีการนำคำว่า "ปฏิปักษ์" ไปวินิจฉัยตีความให้เกินเลยไปกว่าตัวหนังสือที่ปรากฏในพยานหลักฐาน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดี ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 77โดยเร็ว ฉะนั้น วันนี้หากกกต.ไม่ได้ดำเนินการตามหมวด 2 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ของกกต.เอง ตนก็จำเป็นจะต้องไปศาลรัฐธรรมนูญโดยด่วน"นายเรืองไกร กล่าว

 

ทั้งนี้ นายเรืองไกรได้ทำการจุดเทียน พร้อมทั้งระบุด้วยว่า "ตนไม่เชื่อว่าตอนนี้อยู่ในยุคมืด วันนี้ตนจึงอยากจุดเทียนบนความไม่เชื่อของตน ตนยังเชื่อว่าประเทศไทยจะสงบเรียบร้อยและก้าวต่อไปได้ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"