อีสานโพลชี้ 'อนาคตใหม่' มาแรง ส่วนนโยบายโดนใจโหวตประกันรายได้ฯ

อีสานโพลชี้ 'อนาคตใหม่' มาแรง ส่วนนโยบายโดนใจโหวตประกันรายได้ฯ

ผลสำรวจชาวอีสาน 20 จังหวัด ชี้ "อนาคตใหม่" มาแรง ส่วนนโยบายโดนใจโหวต "ประกันรายได้ฯ" 

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2562) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “พรรคที่ชอบและนโยบายที่ใช่ของคนอีสาน” พบว่า ในการเลือกตั้ง สส. ปี 2562 ที่จะมาถึง กลุ่มตัวอย่างคนอีสานมีแนวโน้มจะสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด รองลงมา คืออนาคตใหม่ ไทยรักษาชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ตามลำดับ  โดยปัญหาและความท้ายทายของภาคอีสานที่สำคัญที่สุด 3 ลำดับแรก คือ 1) “ภาคอีสานมีจำนวนคนจนมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร จึงไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้”  2) “ปัญหาเศรษฐกิจของภาคอีสานมีขนาดเล็ก มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าระดับประเทศ จึงมีแนวโน้มเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้เทียบกับภาคอื่นๆ มากขึ้น” และ 3)“ปัญหาภาคการผลิตหลักด้านเกษตรยังเป็นแบบดั้งเดิมพึ่งพาธรรมชาติ ทำให้มีผลิตภาพต่ำ”  ขณะที่นโยบายที่โดนใจชาวอีสานมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ 1) “การประกันรายได้เพื่อชีวิตที่มั่นคง”  2) “นโยบายเกษตรก้าวหน้าปลดหนี้เกษตรกร”  3)“กระจายอำนาจให้จังหวัดและประชาชน”  4)“ตั้งกองทุนแบ่งกำไรชาวนา 70%” และ 5)“เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร (ผลิตพืชปลอดสารพิษ)”

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจว่าชาวอีสานจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดบ้างในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และชอบนโยบายหาเสียงประเด็นใดมากที่สุด ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2562 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,108 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด  เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มที่จะสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 กลุ่มตัวอย่างคนอีสาน ร้อยละ 44.8 จะสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ 21.2 จะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ตามมาด้วย ร้อยละ 7.5 พรรคไทยรักษาชาติ  ร้อยละ 7.4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 6.1 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.9 พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 9.1 ให้การสนับสนุนพรรคอื่นๆ หรือยังไม่ตัดสินใจ หรือไม่ไปเลือกตั้ง

จากนั้นได้สำรวจถึงปัญหาและความท้าทายของภาคอีสานที่ควรได้รับการจัดการมากที่สุด (โดยให้เลือก 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด จาก  10 ประเด็น) พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 63.5 คือ “ภาคอีสานมีจำนวนคนจนมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร จึงไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้” รองลงมา ร้อยละ 49.1 “ปัญหาเศรษฐกิจของภาคอีสานมีขนาดเล็ก มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าระดับประเทศ จึงมีแนวโน้มเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้เทียบกับภาคอื่นๆมากขึ้น” อันดับ 3 ร้อยละ 40.3  “ปัญหาภาคการผลิตหลักด้านเกษตรยังเป็นแบบดั้งเดิมพึ่งพาธรรมชาติ ทำให้มีผลิตภาพต่ำ และมีการใช้สารเคมีสูง” อันดับ 4 ร้อยละ 40.0  “ปัญหามลพิษจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรต่างๆ”  อันดับ 5 ร้อยละ 27.9  “ขาดแคลนน้ำทั่วทั้งภาค ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก” อันดับ 6 ร้อยละ 25.4  “ทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลาย แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นที่รู้จัก อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก” อันดับ 7 ร้อยละ 25.3   “อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรขั้นต้น มูลค่าเพิ่มต่ำ ประกอบกับการลงทุนใหม่ๆ มีน้อย จึงมีแหล่งสร้างงานน้อย”  ส่วนอันดับ 8-10 ชาวอีสานเห็นว่าเป็นปัญหาและความท้าทายที่ยังไม่สำคัญมาก ได้แก่ “สินค้าส่งออกตามชายแดนส่วนใหญ่ผลิตจากนอกภาค ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับภาค”  “มีปัญหาโภชนาการของแม่และเด็กส่งผลให้ไอคิวต่ำในเด็ก” และ “มีความรุนแรงของโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบ”

จากนั้นได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศ นโยบายอะไรที่โดนใจท่านมากที่สุด โดยให้เลือตอบเพียง 5 นโยบาย จาก 30 นโยบาย พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 42.2  คือ “การประกันรายได้เพื่อชีวิตที่มั่นคง”  รองลงมา ร้อยละ 41.1 “นโยบายเกษตรก้าวหน้าปลดหนี้เกษตรกร”  อันดับ 3 ร้อยละ 32.5 “กระจายอำนาจให้จังหวัดและประชาชน” อันดับ 4  ร้อยละ 27.3 “ตั้งกองทุนแบ่งกำไรชาวนา 70%” อันดับ 5  ร้อยละ 26.7 “เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร (ผลิตพืชปลอดสารพิษ)” อันดับ 6  ร้อยละ 26.4 “ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ 120,000 บาท/ปี” อันดับ 7  ร้อยละ 24.7 “สร้างรายได้อย่างมีศักดิ์ศรี” อันดับ 8  ร้อยละ 23.5 “ลดต้นทุนการประกอบอาชีพ” ” อันดับ 9  ร้อยละ 22.4 “สานต่อสวัสดิการประชารัฐ” อันดับ 10  ร้อยละ 20.9 “สร้างเศรษฐกิจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” และอันดับที่ 11-30  เป็นนโยบายอื่นๆ ดังแสดงในตารางด้านบน