ระบบ 'เลือกตั้ง' บีบพรรค เปิดศึกชิง 'ปาร์ตี้ลิสต์-เขต'

ระบบ 'เลือกตั้ง' บีบพรรค เปิดศึกชิง 'ปาร์ตี้ลิสต์-เขต'

"ระบบเลือกตั้ง" ถือเป็นหนึ่งประเด็นใหม่ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. หรืออีก 1 เดือนข้างหน้า โดยระบบนี้ ถูกตั้งชื่อว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม"

กำหนดให้มีส.ส.จำนวนทั้งสิ้น 500 คน แบ่งเป็นส.ส.ระบบเขต 350 คน และระบบบัญชีรายชื่อ หรือที่เรียกว่าระบบ “ปาร์ตี้ลิสต์” อีก150 คน

ระบบดังกล่าวต่างไปจากเดิม ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก “คนที่รัก” อีกใบเลือก “พรรคที่ชอบ” เป็นบัตร 1 ใบเลือก “คนที่รัก-พรรคที่ชอบ-นายกฯที่ใช่”

โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เหตุผลการออกแบบโมเดลเลือกตั้งนี้ว่า “เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ” เพราะนอกจากจะกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ทั้งส.ส.-พรรคการเมือง-รวมไปถึงนายกฯแล้ว ทุกคะแนนเสียง โดยเฉพาะ “คะแนนเสีย” หรือคะแนนของ “ผู้แพ้” จะถูกนำมาคิดคำนวณเป็นส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์อีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการคิดคำนวณว่า พรรคที่ได้รับคะแนนในระบบเขตสูง ก็จะส่งผลให้คะแนนรวมถึงที่นั่งส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ “ถูกหั่น” ให้เหลือพื้นที่น้อยลง

จึงไม่แปลกที่การเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้พรรคใหญ่ที่เคยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 และ 2 เลือกที่จะเดินยุทธศาสตร์ “แตกตัว” เพื่อรักษาแต้มที่มีอยู่เดิมเอาไว้

และนอกจากที่แต่ละพรรคจะต้องเผชิญกับ “ศึกนอกพรรค” ที่ขณะนี้มี “พรรคน้องใหม่” เกิดขึ้นมากมายแล้ว จากความไม่แน่นอนรวมถึงโอกาสในการคว้าที่นั่งในระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่อาจจะน้องลง แต่ละพรรคโดยเฉพาะพรรคใหญ่จึงต้องเผชิญ “ศึกภายในพรรค” ไม่ว่าจะเป็น “ศึกชิงพื้นที่ทับซ้อน” รวมถึง “ศึกชิงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้น” เพื่อให้ตนเองอยู่ในระยะปลอดภัย

โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิด “ดราม่า” ศึกชิงปาร์ตี้ลิสต์ไม่หยุดหย่อน ทั้งในกรณีของ “วิฑูรย์ นามบุตร” รองหัวหน้าพรรค ที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 40 จนถึงขั้นโพสต์ข้อความในไลน์กลุ่มส.ส.พรรคระบายความในใจ ในทำนองตัดพ้อถึงหลักคิด วิธีการจัดลำดับที่เอาคนไม่ออกทุน ไม่ออกแรง ไม่ทำกิจกรรมร่วมกับพรรค ไม่ลงพื้นที่ อยู่ลำดับ 10-20-30

ในขณะที่ตัวเองเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน ออกทุน ออกแรง เป็นคนเก่า มั่นคงกับพรรค ไม่เคยย้ายพรรค กลับถูกจัดให้ลำดับ 40 ( ปชป.คาดการณ์ว่าลำดับปลอดภัยอยู่ที่ 30-35 ที่นั่ง ) ไม่นับรวมกรณีที่อดีตส.ส.บางคนแสดงความไม่พอใจลามไปถึงขั้นทำหนังสือลาออก เนื่องจากไม่มีชื่อปรากฏอยู่บัญชีปาร์ตี้ลิสต์

เช่นเดียวกับพรรคคู่แข่งอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่มีการคาดการณ์ว่าจำนวนที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์จะหายไปเกินครึ่ง หรือที่แย่ไปกว่านั้น อาจไม่ได้ที่นั่งส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว พรรคจึงเลือกที่จะเดินเกมแตกพรรค เกลี่ยส.ส. ส่งเฉพาะเขตที่ชัวร์ รวมทั้งดันคนที่เคยอยู่ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ไปลงในระบบเขต หรือจัดโควตาปาร์ตี้ลิสต์ให้เฉพาะแกนนำแถวหน้า ส่วนแกนนำแถวรองลงมาก็จะแลกกับโควตาในตำแหน่งอื่นๆ เพื่อรักษาแต้มเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

งานนี้พรรคที่ดูเหมือนว่าจะแฮปปี้ที่สุด หนีไม่พ้นพรรคขนาดกลางหรือพรรคที่ได้คะแนนลำดับที่ 3 ลงมา เพราะยิ่งพรรคใหญ่ทำคะแนนได้มากเท่าไร ก็จะเป็นการเพิ่มแต้มเสียที่จะนำไปคำนวณที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเหล่านั้นมากท่านั้น!!