'หัวหน้าคสช.' vs 'ฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ'?

'หัวหน้าคสช.' vs 'ฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ'?

ในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองบัญชีบุคคลที่พรรคการเมือง เสนอเพื่อจะส่งชิง ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต่อที่ประชุมรัฐสภา

ภายหลังการเลือกตั้ง และได้เสียงครบเกณฑ์เสนอชื่อในที่ประชุม คือ ได้ส.ส.เกิน 25 ที่นั่งขึ้นไป

โดย “บัญชีแคนดิเดทนายกฯ” ที่ กกต.​รับรองมีทั้งสิ้น 45 พรรคการเมือง ไม่รวม “พรรคไทยรักษาชาติ” ที่เสนอพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” เนื่องจากพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว

สถานะของทูลกระหม่อมฯ คือ บุคคลที่ไม่มีสิทธิ เพราะมีลักษณะต้องห้ามของการเข้าสู่ถนนสายการเมือง
แม้เรื่องนี้จะเป็นข้อยุติ แต่วิบากกรรมของ พรรคไทยรักษาชาติ ที่มี “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” เป็นหัวหน้าพรรค ยังไม่หมดสิ้น เพราะต้องเจอกับ ข้อร้องเรียนให้ “ยุบพรรค” จากคำร้องของ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ด้วยเหตุผลคือ เสนอชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม เป็น “นายกฯ” ที่พรรคสนับสนุนเสนอชื่อในรัฐสภา หลังเลือกตั้ง

ซึ่งกรณีนี้ เป็นสิ่งที่ “กกต.”​ ต้องนำไปพิจารณาทางข้อกฎหมายต่อไป ก่อนจะทำตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ว่า จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยต่อไปหรือไม่

ขณะที่รายชื่อบัญชีแคนดิเดทนายกฯของ 45 พรรคการเมืองที่ถูกรับรอง น่าจับตาเพราะจากนี้ไป พวกเขาคือ บุคคลที่จะเป็นตัว “ชูโรง” ให้กับพรรคการเมือง เพื่อโกยคะแนนเรตติ้งในการหาเสียง

ไม่ว่าจะเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ, “อภิทธิ์ เวชชาชีวะ” จากพรรคประชาธิปัตย์, “อนุทิน ชาญวีรกูล” จากพรรคภูมิใจไทย, “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , ชัชชาติ สิทธิพันธ์” จากพรรคเพื่อไทย, “สุวัจน์ ลิปตพัลล-เทวัญ ลิปตพัลลภ” จากพรรคชาติพัฒนา, “กัญจนา ศิลปอาชา” จากพรรคชาติไทยพัฒนา, “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น

แต่สำหรับชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” แม้ กกต. ​จะรับรองไปแล้ว แต่อาจถูก “สอย” ทีหลังก็เป็นไป หลังจากที่ ฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทย ยื่นประเด็นให้พิจารณาว่า สถานะของ “หัวหน้า คสช.” นั้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ที่ไม่ได้สิทธิถูกเสนอชื่อในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองหรือไม่

เพราะหากย้อนข้อกฎหมายของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเงื่อนไข ต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าตัวแล้ว บุคคลนั้นต้องเข้าเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 88 มาตรา 89 มาตรา 98 และ มาตรา 160 ซึ่งเป็นกติกาพื้นฐานที่บังคับให้คนที่จะลงเล่นการเมืองต้องมี

สำหรับไฮไลท์ของคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” จะอยู่ในมาตรา 98 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นตอนของนักการเมือง ที่โยงมาใช้กับ “แคนดิเดทนายกฯ” ใน (12) กำหนดข้อห้ามลงสมัคร คือ บุคคลที่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง และ (15) ห้ามเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ซึ่งสถานะของ “บิ๊กตู่” นั้น มีคำที่เป็นหัวใจ คือ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งตามคำนิยามปกติหมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งปวง ซึ่งมีอำนาจที่จัดการให้เป้นไปตามนโยบายของรัฐ อันมีลักษณะเป็นราชการบริหารทั้งที่สังกัดราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งคลุมถึง “ข้าราชการพลเรือน-ทหาร-ตำรวจ-ยุติธรรม-อัยการ”

ขณะที่ตำแหน่ง “คสช.” แม้จะไม่ถูกจำกัดความไว้ตั้งแต่แรก จึงเป็นประเด็นที่ต้องใช้การตีความ และคนที่จะให้คำยืนยันได้ คงไม่พ้น “ศาลรัฐธรรมนูญ”!!