‘ฟูจิซีร็อกซ์’ปักธงขายโซลูชั่นองค์กร

‘ฟูจิซีร็อกซ์’ปักธงขายโซลูชั่นองค์กร

“ฟูจิซีร็อกซ์” ย้ำภาพผู้ขายโซลูชั่นบริหารจัดการเอกสาร ลุยขยายฐานลูกค้า หนุนธุรกิจองค์กรรับมือดิจิทัลดิสรัปชั่น ล่าสุดส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ 14 รุ่นรวดเขย่าตลาดต้นปี เชื่อลงทุนไอทีไทยทิศทางดี ตั้งเป้าดันธุรกิจมัลติฟังก์ชั่นโตเป็นตัวเลขสองหลัก

นายกิติกร นงค์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวทางธุรกิจปีนี้เน้นกลยุทธ์ “ดิจิทัล อินทิลิเจนซ์” ผลักดันการพัฒนานวัตกรรมสมาร์ทเวิร์ค เชื่อมระบบงานในสำนักงานสู่ดิจิทัล รองรับการมาของเมกะเทรนด์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ), อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที), และดิจิทัล ดิสรัปชั่น

ทั้งนี้ เป็นการต่อยอดแผนงานก่อนหน้านี้ที่ได้ปรับโมเดลธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการพิมพ์ควบคู่ไปกับโซลูชั่นบริหารจัดการเอกสาร สมาร์ทเวิร์คเกตเวย์ ทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลภายในองค์กร

โดยหลักการสำคัญ เน้นพัฒนานวัตกรรมแบบสมาร์ทแพลตฟอร์มที่ทำให้เครื่องพิมพ์เป็นมากกว่าแค่การนำไปใช้พิมพ์งาน สแกน สำเนา และส่งแฟกซ์ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของการทำงานและสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

พร้อมกันนี้ เน้นทำการตลาดในส่วนโซลูชั่นและบริการสำหรับภาคธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจให้สามารถทำงานร่วมกับใช้โซลูชั่นการพิมพ์ การจัดการต่างๆ เชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการ นำเทคโนโลยีเอไอ คลาวด์, และอาร์พีเอ (Robotic Processing Automation) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ทว่ายังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจฮาร์ดแวร์ที่เป็นรายได้หลักควบคู่ไปด้วย

ด้านกลุ่มเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับลูกค้าองค์กรตั้งแต่ขนาดกลางถึงใหญ่ การตลาดมีทีมงานที่จะเจาะไปตามกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม ปัจจุบันฐานลูกค้าหลักเป็นบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ทว่าด้วยปีนี้โซลูชั่นของบริษัทมีความหลากหลายและฉลาดมากขึ้น ดังนั้นเตรียมขยายฐานตลาดเข้าไปตามหน่วยธุรกิจย่อยภายในองค์กรของลูกค้า

“เรายังมุ่งการขายรูปแบบโซลูชั่น มีการพัฒนาศักยภาพของทีมขายให้มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้าในรูปแบบที่ปรึกษาเพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชั่นที่ตอบสนองความต้องการได้ตรงประเด็น เน้นการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถ สร้างรายได้ ทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและอัตโมมัติ”

นายกิติกรกล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนไอทีในไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันการลงทุนไอทีถูกจัดลำดับความสำคัญให้อยู่ดับดับท็อป 3 ของการลงทุนองค์กร ขณะเดียวกันมีปัจจัยบวกจากการผลักดันนโยบายของภาครัฐ เช่นการจัดทำเอกสารรูปแบบดิจิทัลส่งกรมสรรพากร แม้ว่ายังไม่ใช่ภาคบังคับแต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายคือ จะเลือกลงทุนด้านใดเพื่อให้คุ้มค่า ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ต่อเนื่อง แน่นอนว่าการลงทุนไอทีเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มิเช่นนั้นจะแข่งขันได้ยากเพราะคู่แข่งต่างให้ความสำคัญกับการนำดิจิทัลมาเพิ่มศักยภาพธุรกิจ และโดยปกติรอบการลงทุนเทคโนโลยีทดแทนระบบเดิมที่ตกรุ่นจะอยู่ที่ทุก 4-5 ปี

ล่าสุด เปิดตัวเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นขนาด เอ3 รุ่นใหม่ รวม 14 รุ่น หวังเจาะกลุ่มองค์กรธุรกิจครอบคลุมทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น การเงิน โรงงานอุตสาหกรรม การศึกษา สุขภาพ รวมถึงเอสเอ็มอีโดยปี 2562 นี้ตั้งเป้าไว้ว่า กลุ่มเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นจะเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก