สนข.ลงพื้นที่ลุยแจงไอซีดี

สนข.ลงพื้นที่ลุยแจงไอซีดี

สนข.เผยผลการศึกษาปั้นไอซีดีฉะเชิงเทรา พบ 4 พื้นที่ตัวเลือก ชี้ อ.บ้านโพธิ์ เหมาะสมมากที่สุด เตรียมสรุปข้อมูลเสนอ กพอ.เคาะเลือกพื้นที่ มี.ค.นี้ หอการค้าหนุนเต็มที่ ยืนยันเหมาะกว่า บางน้ำเปรี้ยวมั่นใจไม่กระทบชุมชน

การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) จ.ฉะเชิงเทรา รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ผ่านการรับฟังความเห็นมาแล้วหลายครั้ง และในวันนี้ (11 ก.พ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะจัดรับฟังความเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์จากผู้เกี่ยวข้องโครงการไอซีดี ที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้ทำศึกษาโครงการไอซีดี จ.ฉะเชิงเทรา โดยข้อมูลผลการศึกษาระบุพื้นที่เหมาะสมถึง 4 พื้นที่ เช่น อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.บ้านโพธิ์ ซึ่งดัชนีตัวชี้วัดความเหมาะสมและความคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด อยู่ในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ แต่ สนข.ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินคัดเลือกพื้นที่ โดยมีหน้าที่เพียงเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งจะต้องรายงานโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

สนข.ลงพื้นที่ลุยแจงไอซีดี

“สนข.ได้โจทย์จาก กพอ.มาเพียงพื้นที่ที่ต้องการให้ศึกษา คือ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจ สอบถามประชาชนในพื้นที่ และศึกษาความเหมาะสม ตอนนี้ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ ในวันจันทร์นี้ (11 ก.พ.) สนข.ลงพื้นที่ฉะเชิงเทราเพื่อรับฟังความเห็นอีกรอบ และคาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปโครงการเพื่อนำเสนอต่อ กพอ.และ ครม.พิจารณาอนุมัติพื้นที่เพื่อเริ่มต้นพัฒนา สำหรับทุกความคิดเห็นของประชาชนก็จะถูกระบุอยู่ในรายงานโครงการเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกพื้นที่ด้วย”

ประเมินใช้พื้นที่700ไร่

นางวิไลรัตน์ กล่าวว่า โครงการไอซีดีฉะเชิงเทราจะเปิดประกวดราคาในลักษณะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยเอกชนในธุรกิจเดินเรือ และหากสนใจเป็นผู้รับสัมปทานบริหารสถานีขนส่งสินค้าก็อาจจะเข้ามาร่วมลงทุนได้ เบื้องต้นคาดว่าใช้พื้นที่ 600-700 ไร่ ในส่วนนี้กว่า 50% จะแบ่งเป็นการพัฒนากิจกรรมศุลกากร การนำเข้าและส่งออก ส่วนอีก 50% ใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางถนน

สำหรับผลการศึกษา พบว่าบริเวณพื้นที่หมู่ 4 ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีดัชนีความคุ้มค่าในการลงทุนสูงสุด พิจารณาจากความเหมาะสมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การลงทุน และวิศวกรรม อีกทั้งพื้นที่นี้อยู่จุดยุทธศาสตร์ที่รวบรวมและกระจายสินค้าไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

หอฯชี้บ้านโพธิ์เหมาะสมสุด

นายณรงค์ศักดิ์ แก้วเมืองเพชร ปฏิคม หอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ดูแลงานด้านผังเมือง กล่าวว่า จากการศึกษาการตั้งไอซีดี จะเห็นว่าพื้นที่ อ.บ้านโพธ์ จ.ฉะเชิงเทรา เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นทางผ่านของรถไฟทางคู่ ที่เชื่อมต่อตั้งแต่ท่าเรือกรุงเทพ มาศูนย์ไอซีดี ลาดกระบัง และมาถึง อ.บ้านโพธิ์ รวมทั้งมีถนนสายหลักผ่านหลายสาย เช่น ถนนสาย 315 สาย 304 สาย 331 รองรับการขนส่งไปภาคอีสาน และมีถนนสาย 3304 ที่เป็นสายใหม่ และกำลังขยายถนนสาย 331 บรรจบถนน 314 เพิ่มเป็น 4 ช่องจราจร ช่วยแบ่งเบาภาระถนน 304 ช่วงฉะเชิงเทรา-พนมสาราคาม รวมทั้งยังเข้าสู่ถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 เชื่อมโยงเครือข่ายถนนไปยังภาคเหนือและอีสานได้หมด ซึ่งตอบโจทย์การขนส่งทางรางและถนนได้หมด

ส่วนพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว ที่หลายฝ่ายเสนอให้พิจารณาเป็นสถานีไอซีดี แทนที่ อ.บ้านโพธิ์ เพราะมีกระแสต่อต้านจากชาวบ้าน ซึ่งเห็นว่าพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว เหมาะสมน้อยกว่า อ.บ้านโพธิ์ เพราะแม้จะมีรถไฟทางคู่ผ่าน แต่มีเส้นทางถนนเชื่อมไปยังภาคอีสานตอนบนและอีสานด้านตะวันตกเท่านั้น โดยไม่ไปถึงอีสานตอนล่าง รวมทั้งยังมีเส้นทางหลักผ่านน้อยกว่า หากจะทำในจุดนี้ต้องตัดถนนใหม่เพิ่ม ซึ่งทำได้ยากเพราะต้องเวนคืนและเกิดการคัดค้าน และต้องใช้เวลานาน

มั่นใจไม่กระทบการใช้ที่ดิน

นอกจากนี้ ข้อกังวลว่าจะมีรถบรรทุกจะวิ่งหนาแน่นในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ นั้น หากพิจารณาในจุดนี้ อ.บ้านโพธิ์ มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะพื้นที่อยู่นอกเมือง รถบรรทุกไม่ต้องวิ่งผ่านเมืองฉะเชิงเทรา รวมทั้ง อ.บ้านโพธิ์ เป็นเมืองขนาดเล็กมีความหนาแน่นน้อย ส่วนพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว แม้ว่าจะมีพื้นที่รองรับมากกว่า และตัวเมืองขนาดเล็กที่สุดใน จ.ฉะเชิงเทรา แต่ถนนที่มาจากกรุงเทพฯ จะไป อ.บางน้ำเปรี้ยงจะต้องผ่านตัวเมืองฉะเชียงเทรา ทำให้เกิดผลกระทบด้านจราจรมากกว่า

สำหรับข้อกังวลในเรื่องการถมที่ดินสร้างสถานีไอซีดี จะไปขวางทางน้ำ และทำให้พื้นที่โดยรอบได้รับผลประทบน้ำท่วมมากขึ้น ในเรื่องนี้ตามกฎหมายการก่อสร้างทั้งนิคมอุตสาหกรรม สถานีไอซีดี และสิ่งปลูกสร้างโรงงานจะต้องห้ามขวางทางน้ำ กระทบคู คลอง โดยหากปิดกั้นทางน้ำโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างได้ รวมทั้งการถมที่ดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ กฎหมายก็กำหนดให้ต้องทำลำราง คันดิน กันน้ำในพื้นที่ไหลไปกระทบพื้นที่ใกล้เคียง และพื้นที่ไอซีดี มีพื้นที่ 500 ไร่ เทียบกับพื้นที่ทั้งจังหวัดที่เป็นที่ราบลุ่มกว่า 3 ล้านไร่ เป็นสัดส่วนที่น้อยมากจนกระทบทำให้น้ำท่วม

หวังไอซีดีหนุนสร้างงาน

“หากมองว่าพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ มีประชาชนบางกลุ่มคัดค้าน หากย้ายไปที่บางน้ำเปรี้ยว คนที่นั่นก็คัดค้านเช่นกัน รวมทั้งหากตัดถนนใหม่ก็จะยิ่งมีคนคัดค้านเพิ่ม ซึ่งจะต้องชั่งประโยชน์ผลดีผลเสียที่ได้ หากเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และท้องถิ่นมากกว่า ก็ควรเดินหน้าต่อไป และช่วยเยียวให้กับผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วนใหญ่ไม่ต่อต้านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือโครงการสถานีไอซีดี เพราะที่ดินมีราคาแพงขึ้น สามารถนำไปพัฒนาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น สร้างโรงแรมหอพักรองรับแรงงานที่เพิ่มขึ้น การสร้างร้านอาหาร ธุรกิจบริการอื่นๆ รวมทั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรต่างๆ ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานขนาดใหญ่ เจ้าของที่ดินมีทางเลือกในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ที่เคยเช่าที่ดินในพื้นที่เหล่านี้ ทำให้เสี่ยงต้องย้ายออก ซึ่งเป็นสิทธิที่เจ้าของที่ดินทำได้ แต่ภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหามาตรการมารองรับเยียวยาคนกลุ่มนี้ ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด