“บล็อกเชน” ปฏิวัติการค้าโลก เปิดทางเอสเอ็มอีไทยโตร่วมกัน

“บล็อกเชน” ปฏิวัติการค้าโลก เปิดทางเอสเอ็มอีไทยโตร่วมกัน

บล็อกเชนไม่เพียงเป็นเทคโนโลยีที่มาปฏิวัติการค้า แต่ยังสร้างโอกาสให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีขึ้นไปเล่นบนเวทีโลก เพราะมีระบบสร้างความไว้วางใจให้โนเนมรายเล็กได้รับออเดอร์ระดับโลกได้ บล็อกเชนจึงถูกนำมาใช้ในหน่วยงานการค้าของรัฐ เปิดประตูเอสเอ็มอีสู่น่านน้ำใหม่

การค้นพบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) นำไปสู่การพลิกโลกเศรษฐกิจหลากหลายด้าน เพราะบล็อกเชนคือระบบการทำงานที่ป้องกันความผิดพลาดด้วยการ “ขจัดตัวกลาง และยังช่วยลดต้นทุนประกอบการ

ล่าสุด ที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (World economic forum 2018) ในธีมการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ยังพูดถึงบล็อกเชนว่าจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าโลก โดยมีส่วนทำให้การค้าโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2569

เมื่อเทคโนโลยีนี้เข้ามามีอิทธิพลต่อโลกมหาศาล จึงต้องเร่งเข้าไปศึกษาวิธีการนำมาใช้ประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นหน่วยงานแรกของภาครัฐ ที่นำร่องความร่วมมือกับสถานเอกอัคราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยงานด้านวิชาการที่เข้าไปศึกษาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และร่างข้อเสนอโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศของไทย ใน 4 ด้านคือ การค้า การเงิน การขนส่ง และการกำกับดูแล

ผศ.ดร.สมนึก คีรีโต ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยบล็อกเชน ศึกษาแนวทางการสนับสนุนการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Finance and Trade facilitation ) มองว่า แม้บล็อกเชนจะมีศักยภาพในการปฏิรูปกลไกการค้าระหว่างประเทศ แต่การนำไปสู่ทางปฏิบัติยังมีกฎระเบียบและความซับซ้อนของกฎหมาย ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการออกแบบการใช้งานให้เพิ่มประสิทธิภาพการค้าของไทย

จากผลศึกษาหน่วยงานของไทย พบว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อน เอกสารมากกว่า 40 ฉบับ ผ่าน 30 องค์กร และกว่า 100 คนเกี่ยวข้อง อีกทั้งผู้ส่งออกและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) มักมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เพราะต้องรอรับเงินค่าสินค้าเป็นเวลานาน การใช้บล็อกเชนทำให้ได้เงินเร็วขึ้น และยังเป็นข้อมูลเพื่อช่วยทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการค้าได้มากขึ้น 

กระบวนการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศมีขั้นตอนมากมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น ใบอนุญาต ใบรับรอง หลังจากออกใบอนุญาต ต้องไปติดต่อกว่า 30 หน่วยงาน เมื่อมีระบบเชื่อมโยงเอกสารการส่งออกและนำเข้าเข้าถึงข้อมูลชุดเดียวกันด้วยบล็อกเชน ก็จะดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้รวดเร็วขึ้น

ตัวอย่างของ กลุ่มความร่วมมือของธนาคารในยุโรป ชื่อ We.Trade เป็นระบบบล็อกเชนด้านการค้าและการเงิน ที่มีการให้ตั้งบัญชีแบบเปิด(Open Account) ที่ให้บริการโดยธนาคารในสหภาพยุโรป 9 ธนาคารทำให้ SMEs กว่า 14 รายมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน อย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน ทำให้ผู้ส่งออกเสี่ยงน้อย และขั้นตอนการค้ารวดเร็วกว่าเดิม

มิติใหม่ของการพัฒนาโครงการจะเข้าไปเชื่อมต่อการค้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ระหว่างร่างข้อเสนอโครงการพัฒนาระบบต้นแบบบล็อกเชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศของไทยเชื่อมโยงแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin-C/O) และหลักฐานด้านการส่งออก (Export Certificates) จากกรมค้าต่างประเทศ กับบล็อกเชน รวมถึงมีกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ไทย เมื่อเข้าอยู่ในระบบช่วยทำให้การรับชำระเงินค่าสินค้าแบบที่ใช้ Letter of Credit (L/C) มีการอนุมัติการจ่ายเงิน(Payment Approval) เร็วขึ้น80%

ปัญหาสภาพคล่องสภาพคล่องทางการเงินของผู้ส่งออก และ SMEs ไทย ถือเป็นประเด็นหลักที่ป้องกันการหลอกลวงบนโลกอินเตอร์เน็ท ระหว่างที่ส่งสินค้าไปรอรับเงินค่าสินค้าเป็นเวลานาน บล็อกเชนจะช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อต่อยอดพัฒนาช่องทางการค้า

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการนำระบบการค้าข้ามพรมแดน (Cross-border Blockchain) ที่กรมการค้าต่างประเทศดูแลในด้านเอกสาร ให้เอกสารที่ยุ่งยากซับซ้อนสามารถอำนวยความะสะดวกกลไกการขนส่งตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ขณะเดียวกันยังมีแผนชื่อมต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ติดตามตรวจสอบย้อนกลับ เชื่อมโยงกับ Trade Facilitation & Trade Finance

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสนค. ระบุว่า บล็อกเชนถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาปฏิวัติเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล จุดเด่นที่สร้างระบบการค้าแบบใหม่ของบล็อกเชน อาทิ เพิ่มความโปร่งใสในระบบ ส่งข้อมูลไปยังหน่วยในเชนได้พร้อมกันหลายหน่วย ปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์รูปแบบต่างๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของบล็อกเชนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการค้าโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สนค. จึงเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้ในงานของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การจดทะเบียน(registration) การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) การจดแจ้งความเป็นเจ้าของ(ownership) การสร้างความมั่นใจให้ e-commerce

“สนค.จะศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในงานกระทรวง 3 โครงการ ประกอบด้วย สนับสนุนการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ,บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ และการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร”

ในระยะยาวบล็อกเชนจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการทำการค้า ในการช่วยอำนวยความสะดวก ลดต้นทุน ในการประกอบธุรกิจส่งออก, หรือช่วยในการจดทะเบียนให้ผู้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการเข้าหาแหล่งเงินทุนผ่านบล็อกเชน

 “ปีนี้คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้จริงในหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจุดแข็งและจุดอ่อนแล้วนำกระบวนการมาปรับปรุงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบได้ในอนาคต

เธอเชื่อว่า จุดเด่นของบล็อกเชนคือการสร้างความโปร่งใส, สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust Building) และการลดต้นทุน คือหัวใจสำคัญของการสร้างโอกาสผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้เข้าถึงโอกาสการค้าในเวทีระดับโลกได้ ในข้อได้เปรียบที่เท่าเทียมกัน แม้จะเสียเปรียบเรื่องขนาดและเงินทุน

นี่จึงเป็นทางออกของการขับเคลื่อนรากฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีกลุ่มSMEsกว่า 90 %ที่จะแสวงหาโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจรายเล็ก ได้รับความไว้วางใจเชื่อมั่นโดยที่ไม่เคยเข้าตลาดมาก่อน เป็นคีย์สำคัญสร้างโอกาสให้เติบโตด้วยกันได้อย่างยั่งยืน